มาลองชม ‘4 พิพิธภัณฑ์ลับ’ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในพื้นที่คัดเลือกแล้วว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่อยากให้ทุกคนไปเที่ยวชมเพื่อเปิดประสบการณ์
พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดหอก่อง จ.ยโสธร
– วันมาฆบูชาของทุกปี ชาวลุ่มแม่น้ำชีจะมีประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก หรือมาลัยขนาดใหญ่ยักษ์ที่ทำมาจากข้าวตอก หลังจากจบงานจะถูกนำมาเก็บรักษาและเปิดให้ชมที่วัดแห่งนี้
สาระคือการถวายมาลัยข้าวตอกเป็นพุทธบูชาในประเพณีบุญเดือนสาม งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียกว่าประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาคั่วในหม้อดิน ได้ข้าวตอกสีขาวนวลใช้แทนดอกมณฑารพ เชื่อว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ นำข้าวตอกไปร้อยเป็นพวงมาลัยสาย นำมาตกแต่งให้สวยงามเป็นมาลัยขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบ เมื่อถวายพระแล้ว จะนำไปเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญของวัด
บางส่วนนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก ที่อยู่ภายในวัดหอก่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นสถานที่เรียนรู้และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลฟ้าหยาด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด สนับสนุนงบประมาณก่อตั้งโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ภายในจัดแสดงตัวอย่างมาลัยข้าวตอกที่งดงามตระการตาฝีมือชั้นครู
ข้อมูลการเข้าชม
ที่อยู่: วัดหอก่อง ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 35130
โทรศัพท์: 045711642 (อบจ.ยโสธร)
วันและเวลาทำการ:ทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น
ค่าเข้าชม:ไม่เสียค่าเข้าชม
FB:https://www.facebook.com/พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก-271691280186145/?ref=page_internal
ปีที่ก่อตั้ง:2560
อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.อยุธยา
– พิพิธภัณฑ์ทองคำที่ใหญ่และดีที่สุดในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องทองโบราณสมัยอยุธยามากถึง 2,000 ชิ้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2500 ทรงมีพระราชปรารภว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”
ดังนั้นกรมศิลปากร จึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษา จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ รวมถึงโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การสร้างอาคารด้วยเงินบริจาคจากประชาชน ผู้บริจาคจะได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์
วัตถุที่จัดแสดงที่มีความสำคัญ และ สิ่งที่น่าสนใจ เช่น
- เศียรพระพุทธรูปสำริด ศิลปะอู่ทอง ที่ได้จากวัดธรรมิกราช
- กลุ่มพระพุทธรูปจากต่างประเทศที่จากกรุวัดราชบูรณะ
- เครื่องทองที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในกรุชั้นที่ ๓ วัดราชบูรณะ
- พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางประทานเทศนา ศิลปะทวารวดี
- ครุฑโขนเรือไม้จำหลัก ปางกรณมุทรา ใช้เป็นหัวเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา
ข้อมูลการเข้าชม
ที่อยู่ : ถนนโรจนะ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : 035-241 587 / 035-244 570
โทรสาร : 035-241 587
เว็บไซต์ : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/chaosamphraya
วันและเวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น.
(ปิดวันจันทร์-อังคาร วันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์)
ค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท / ชาวต่างประเทศ 150 บาท
นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ / ภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี
– เรียนรู้โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลพบุรี
สาระคือ พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อตั้งขึ้นจากงบประมาณที่กันออกมาจากงบประมาณการสร้างเขื่อนป่าสักของกรมชลประทาน ภายใต้การดูแลจัดการของกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเนื้อหาความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน
1 “การชลประทานในประเทศไทย” เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ด้านการชลประทานในประเทศไทย ประวัติความเป็นมาการการชลประทานของโลกและของประเทศไทย
2 “ย้อนรอยอารยธรรม” นำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพื้นที่
3 “วัฒนธรรมท้องถิ่น” เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง คือชาวไทยเบิ้ง
4 “ภูมิศาสตร์” ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แหล่งน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำป่าสัก
5 “ทรัพยากรธรรมชาติ” อันแสดงถึงความอุดมของพื้นที่
6 เป็นห้องฉายวิดีโอสรุปข้อมูลสาระ เพื่อให้ผู้ชมได้ทบทวนเรื่องที่ท่านได้ชมมาแล้วทั้งหมด
ข้อมูลการเข้าชม
ที่อยู่:ในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บ้านแก่งเสือเต้น ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 15140
โทรศัพท์:0-3649-4031-2
วันและเวลาทำการ:เปิดทุกวัน 08.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:ไม่เก็บค่าเข้าชม
มิวเซียม สิงห์บุรี
– แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของเมืองสิงห์บุรี จัดแสดงภายในอาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ.130) ที่มีเอกลักษณ์
นิทรรศการมีทั้งหมด 8 เรื่องที่จัดภายในอาคาร ได้แก่
- ทรัพย์เมืองสิงห์ หลักฐาน ทรัพย์เมืองสิงห์ จำนวนมากมาย คือความสำคัญของสิงห์บุรี ตั้งแต่หลายพันปีก่อนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องถึงทวารวดี สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนเป็นสิงห์บุรีวันนี้
- ทรัพย์เมืองเก่า “ชาวสิงห์บุรี” ในยุคดึกดำบรรพ์รวมกลุ่มตั้งหมู่บ้านกระจัดกระจายกันตามที่ต่าง ๆ แล้วพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี มีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่น ๆ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหัวเมืองสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในยุค สิงห์ – อินทร์ – พรหม ปัจจุบันยังมีทรัพย์ที่ยืนยันความรุ่งเรืองของยุคนี้อยู่มากมายในสิงห์บุรี
- ทรัพย์ในดิน “เมืองเตาเผา” สิงห์บุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตภาชนะดินเผาขนาดยักษ์ใหญ่ มีเตาเผาจำนวนนับร้อยเตา ผลิตภาชนะดินเผาส่งขายในอยุธยา และส่งออกไปทั่วโลกไกลถึงทวีปแอฟริกา มี “ซิกเนเชอร์” สำคัญยืนยันความเป็นทรัพย์ในดินของสิงห์บุรี คือ “ไหสี่หู” ภาชนะที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากสิงห์บุรี
- ทรัพย์สลาย “กรุงแตก” ทำให้สิงห์บุรีที่เจริญรุ่งเรืองมานับพันปี ต้องโรยราในชั่วข้ามคืน เตาเผาถูกทิ้งร้างกลายเป็นอดีต แม้จะมีชาวสิงห์บุรีและชาวเมืองใกล้เคียงร่วมมือกัน “ปกป้องถิ่น” จนคนสุดท้ายใน “ศึกบางระจัน” แต่ไม่อาจต้านทานศึกใหญ่ครั้งนั้นได้ ทรัพย์เมืองสิงห์สลายไป พร้อม ๆ กับกรุงศรีอยุธยา
- ทรัพย์ทรงจำ “เมืองแฝดสาม” สิงห์ – อินทร์ – พรหม เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ หลายครั้ง ตั้งแต่เป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างรัฐโบราณ จนถึงเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการยุบรวม สิงห์ – อินทร์ – พรหม เป็น “เมืองสิงห์บุรี” เมืองเดียว
- ทรัพย์เมืองสิงห์ “เมืองดี คนดี ของดี” เมืองสิงห์บุรี มีทรัพย์เมืองสิงห์ซุกซ่อนอยู่จำนวนมาก ทุกซอกทุกมุมของทุกหมู่บ้าน ล้วนมีเรื่องราว ให้ค้นหาที่มีความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารการกิน และ “ของใหม่” ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นทรัพย์เมืองสิงห์ในปัจจุบัน
- ทรัพย์ปัญญา “สิงห์บุรีโมเดล”ด้วยคลองขุด “ใยแมงมุม” ถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐๐ ปีก่อน เพื่อควบคุมน้ำในหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ที่บ้านคูเมือง อินทร์บุรี กรุงศรีอยุธยาก็ใช้โมเดลนี้ขุดคูคลองเพื่อควบคุมน้ำเช่นกัน ถือเป็นทรัพย์ปัญญาและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศ
- ทรัพย์วันหน้า “สิงห์บุรีในฝัน” บททดสอบการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืน ทำให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนในอนาคตได้ด้วยจินตนาการของทุก ๆ คน เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเมืองทั้งในทาง สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และวัฒนธรรม ให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์น่าอยู่ น่าเยือน สำหรับทุกคน
ข้อมูลการเข้าชม
ที่อยู่ : ถนนวิไลจิตต์ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 10600
โทรศัพท์ : 036 – 699 388
อีเมล : admin@singpao.go.th
วันและเวลาทำการ : เปิดให้บริการ วันอังคาร – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา 09.00 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม : เข้าชมฟรี
ที่มา:
https://thai.tourismthailand.org
https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1610
https://www.museumthailand.com/th/museum/Chao-Sam-Phraya-National-Museum