เร่งพัฒนาระบบเพิ่มฟังก์ชันเพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาสุขภาพจิตคนไทย “เยาวชน” มีภาวะซึมเศร้าสูง 2,200 ต่อประชากรแสนคน เผยผลสำเร็จใช้ปัญญาประดิษฐ์ DMIND เชื่อมโยงระบบหมอพร้อม ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้สะดวกรวดเร็วเกือบ 2 แสนคน พบภาวะเสี่ยงรุนแรง 8.7% เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลสายด่วน 1323 เพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวช 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคน ในปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟสูงขึ้นทั้งหมด
ข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562-2566 พบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-59 ปี มีจำนวนฆ่าตัวตายมากสุด แต่กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด คือ 10.39 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่จำนวนคนพยายามฆ่าตัวตายปี 2566 มีถึง 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่น/นักศึกษา อายุ 15-19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 116.81 ต่อประชากรแสนคน สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) ที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 ต่อประชากรแสนคน
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้ที่เริ่มมีป้ญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะการประเมินและให้คำปรึกษาต่อภาวะซึมเศร้า ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression (DMIND) เพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มีความแม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ช่วยลดภาระงานของแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการเชื่อมต่อช่องทางการสื่อสารกับไลน์ “หมอพร้อม” โดยเลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (Chatbot) และเลือกเมนูตรวจสุขภาพใจ เพื่อตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ พร้อมมีระบบ ตรวจจับการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และประเมินภาวะซึมเศร้าเป็นคะแนน 4 ระดับ คือ ปกติสีน้ำเงิน เสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงน้อยสีเขียว เสี่ยงปานกลางสีเหลือง ซึ่งกลุ่มนี้นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน และเสี่ยงรุนแรงสีแดง จะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง
“ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 – ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้บริการ DMIND ทำแบบประเมินสุขภาพจิต 180,993 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่ปกติ 18,906 ราย ผู้มีความเสี่ยงน้อย 113,400 ราย ผู้มีความเสี่ยงปานกลาง 33,039 ราย และผู้มีความเสี่ยงรุนแรง 15,648 ราย หรือคิดเป็น 8.1% ซึ่งมีการยินยอมให้ติดตาม 1,118 คน ติดตามสำเร็จ 778 คน โดยกระบวนการติดตามจะดูว่ามีกรณีเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่ หากเสี่ยงรุนแรงจะส่งต่อไปยัง Hope Task Force ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตายให้การดูแล ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง DMIND กับระบบหมอพร้อมทำให้การดำเนินงานสะดวกมากยิ่งขึ้น ในอนาคตจึงอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ให้มากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว .
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีการพัฒนาและปรับปรุง DMIND ซึ่งมาจากการรับฟังจากความเห็นจากการใช้งานของประชาชน โดยมีแพทย์ AI ให้เลือกพูดคุยปรึกษามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแพทย์AIผู้หญิง จะเพิ่มทั้งแพทย์AIผู้ชาย และ มีอายุหลากหลายมากขึ้น มีการปรับการพูดคุยของผู้ใช้งานให้เป็นธรรมชาติและกระชับมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาการทำงานของ DMIND เพิ่ม ได้แก่ 1. มีการวิเคราะห์ผู้ใช้งานตาม User Journey เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของผู้ใช้งาน และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินงาน 2. ปลดล็อกในส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นวิกฤตตามกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการติดตามกลุ่มวิกฤตที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจากการประเมินของ DMIND ทำให้มีความสะดวกและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที
ที่มา : https://pr.moph.go.th/
Image by Freepik