ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ และความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ มะเร็งอันดับ 3 ที่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด
ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เริ่มต้นที่อายุ 50 ปี แต่หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่ตรวจเพราะไม่มีอาการผิดปกติ กลัวการตรวจ และคิดว่าผลการตรวจสุขภาพประจำปีเพียงพอแล้ว
แต่ในความเป็นจริง มะเร็งลำไส้ต้องใช้วิธีการตรวจเฉพาะ ผลจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจึงบอกไม่ได้ และแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ ก็ควรตรวจคัดกรองเมื่ออายุถึงเกณฑ์
ในขณะที่ประชาชนคนไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ มีอยู่ถึง 15 ล้านคน แต่ปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องมีอยู่เพียง 500 คน ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ของคนไทยยังตรวจได้เป็นจำนวนน้อย
เพื่อเพิ่มอัตราการตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ ด้วยชุดตรวจ Fit Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดแฝงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ได้ในเบื้องต้น
ซึ่งยิ่งได้รับการตรวจคัดกรองเร็ว ก็ยิ่งลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ หากเป็นแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษา และลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์
สำหรับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 50 – 70 ปี สามารถใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้จำนวน 1 ครั้ง ในทุก ๆ 2 ปี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ในฟังก์ชันกระเป๋าสุขภาพ เพื่อรับชุดตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ Fit Test ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
หากตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง สิทธิบัตรทองจะครอบคลุมการรักษา การผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษา 20 ชนิด (Protocol) และการรักษามะเร็งทั่วไป โดยเฉพาะการเข้าถึงยามะเร็งที่มีราคาแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา
มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
สายด่วนสปสช. 1330 ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (สอบถามได้ทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม)
ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.nhso.go.th/news/4407?ldtag_cl=6UmluLvcRPmyLrRSPEIQXwAA_oa