ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม คุณภาพน้ำทะเล มลพิษ และคราบน้ำมันหรือสารเคมีต่าง ๆ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวและทำให้ปะการังตายในบริเวณกว้างในปัจจุบันคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจากภาวะโลกเดือด กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปะการังได้รับความเสียหายและมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะมีความถี่และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในภาวะปกติปะการังจะมีสีสันที่หลากหลายแต่เมื่อภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่า 31 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 1 สัปดาห์ – 1 เดือน จะทำให้ปะการังเครียด และปะการังจะคายสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ให้ทั้งสีและพลังงานที่สำคัญแก่ปะการัง เมื่อมันหลุดออกไป ปะการังจะมีสีซีดจาง จึงเรียกว่า ปะการังฟอกขาว
เมื่อเกิดการฟอกขาวในช่วงแรกนั้นปะการังจะยังไม่ตาย แต่จะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก หากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นลดลงกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ปะการังจะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้ปะการังตาย
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมักจะพบในฤดูร้อน ช่วงเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ถึงแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่พบปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจน แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงวิกฤต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration; NOAA) ได้ประกาศว่า “ปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับหายนะ“ (Global Coral Bleaching Event) อย่างเป็นทางการ เนื่องจากคลื่นความร้อนที่ยังหลงเหลือในมหาสมุทรทำให้ปะการังต้องเผชิญกับความเครียดตลอดเวลา จนปะการังไม่สามารถทนได้อีกต่อไป
จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวพ.) มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ NOAA ได้รายงานว่าขณะนี้มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST) และมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2567 โดยระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงกว่า 30.5 องศาเซลเซียส เป็นระดับที่ปะการังอาจได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลได้ ซึ่งข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 พบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลของประเทศไทยในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเกือบทั้งหมดกำลังอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง !!! นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นไปแตะระดับที่ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2050 ปะการังกว่าร้อยละ 99 บนโลกจะตายไป ในอนาคตเราอาจไม่มีทะเลที่สวยงาม และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
ความร้อนในวันนี้อาจกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก แต่ถ้าพวกเราทุกคนเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโลกเดือด เราก็อาจช่วยชะลอและยับยั้งวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกได้ หากเราไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนในวันนี้ วิกฤตในวันข้างหน้าอาจไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป
ที่มา :
https://www.facebook.com/share/Z6WJ3fbia4MiA4ep/?mibextid=oFDknk
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
รูป By Acropora at English Wikipedia, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30432059