“เปล้าทุ่ง” พืชต่างถิ่นที่กำลังรุกรานคุกคามระบบนิเวศไทย

สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ “เปล้าทุ่ง” 𝘊𝘳𝘰𝘵𝘰𝘯 𝘣𝘰𝘯𝘱𝘭𝘢𝘯𝘥𝘪𝘢𝘯𝘶𝘴 Baill. วงศ์ Euphorbiaceae

ชื่อพ้อง : 𝘊𝘳𝘰𝘵𝘰𝘯 𝘴𝘱𝘢𝘳𝘴𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘶𝘴 Morong, 𝘖𝘹𝘺𝘥𝘦𝘤𝘵𝘦𝘴 𝘣𝘰𝘯𝘱𝘭𝘢𝘯𝘥𝘪𝘢𝘯𝘢 (Baill.) Kuntze

ชื่อสามัญ : Bonpland’s croton

พืชต่างถิ่นรุกรานจากอเมริกาใต้ที่กำลังสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

เปล้าทุ่งเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มสูงถึง 1 เมตร มีลักษณะเด่นคือมีขนสีขาวตามกิ่งอ่อนและผล ใบเดี่ยวรูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอก พบการแพร่กระจายในพื้นที่โล่งแจ้ง พื้นที่รกร้าง ริมถนน นาข้าว ไร่อ้อย และริมทะเล ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 100 เมตร โดยพบการระบาดแทบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคเหนือ

รายละเอียดการกระจายพันธุ์ :

มีถ่นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ ถูกนำมาปลูก และหลุดออกสู่ธรรมชาติในแอฟริกา เอเชีย ตั้งแต่ปากีสถานไปจนถึงลาว คาบสมุทรมลายู สิงคโปร์ บอร์เนียว และสุลาเวสี ในประเทศไทยพบที่จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และนราธิวาส มักขึ้นเป็นวัชพืชในพื้นที่รกร้าง ริมถนน นาข้าว ไร่อ้อย และริมทะเล ขึ้นบนดินทรายหรือดินเหนียวปนทราย ระดับความสูง 0-100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ออกดอดออกผลในเดือนเมษายน สิงหาคม กันยายน และธันวาคม

นักวิชาการระบุว่า พืชชนิดนี้ก่อให้เกิดปัญหาการแก่งแย่งพื้นที่กับพรรณไม้พื้นเมือง โดยเฉพาะการเลื้อยพันปกคลุมพืชอื่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำใบมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค เช่น ลดความดันโลหิตและรักษาโรคผิวหนัง

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนะนำให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเปล้าทุ่งในพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศและพรรณไม้ท้องถิ่นของไทย

ที่มา และรูปภาพ 

https://www.facebook.com/share/p/1JhPK52MCt/

http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2102