Food waste หรือขยะอาหาร มีส่วนสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่ากว่าอุตสาหกรรมการบิน
แล้วรู้หรือไม่ คนไทยสร้างขยะอาหารมากถึงคนละ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แล้วเราจะมีวิธีลดขยะอาหารด้วยตัวเองอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยกอบกู้โลกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในแต่ละปีพบว่าอาหาร 1 ใน 3 ของที่ผลิตได้ทั่วโลก หรือกว่า 1,300 ล้านตัน กลายเป็นขยะอาหาร และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกว่า 10% ของทั้งหมด จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น เพื่อช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง ทำให้ระบบอาหารมีความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น
StixFresh จากบริษัท Ryp Labs ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสติกเกอร์ที่ใช้สารประกอบจากพืช ช่วยชะลอกระบวนการสุกของผลไม้ให้ช้าลง สามารถคงความสดหรืออายุการเก็บรักษาผลไม้ก่อนเน่าเสียได้นานถึง 14 วัน เมื่อติดลงบนผลไม้ สารนี้จะกระจายออกเพื่อสร้างชั้นป้องกันที่ปกคลุมพื้นผิวของผลไม้และทำให้กระบวนการสุกช้าลง ปัจจุบันใช้กับผลไม้หลายชนิด อาทิ มะม่วง แอปเปิ้ล แพร์ อะโวคาโด กีวี ส้ม
FoodStory จากบริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด ประเทศไทย แอพพลิเคชันจัดการของเสียด้วยการแจ้งเตือนร้านอาหารเมื่อวัตถุดิบใกล้หมด และสั่งซื้อในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้จัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียและสั่งซื้อวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำ
Flashfood จาก Josh Domingues ประเทศแคนาดา แอปพลิเคชันที่จับมือกับร้านค้าท้องถิ่น ให้ส่วนลดสินค้าใกล้หมดอายุ และมีการแจ้งเตือนรายการอาหารที่ใกล้หมดอายุรายวัน เพื่อช่วยลดขยะอาหาร เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและธุรกิจร้านอาหาร
Too Good to Go สตาร์ทอัพจากประเทศเดนมาร์ก แอปพลิเคชันแสดงรายการสินค้าใกล้จะหมดอายุ ให้ร้านอาหารได้โพสต์ขายอาหารก่อนปิดร้านในแต่ละวัน และยังมีแผนจะขยายไปสู่ร้านอาหารทั่วไป ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยกำจัดขยะอาหารของโลก.
ประเทศไทยเราเอง ก็ไม่น้อยหน้า ที่ตอนนี้มีบริการแอปพลิเคชัน “สั่งอาหารป้ายเหลือง” Oho! Sustainable Food Outlet หรือสินค้าลดราคา ที่สายประหยัดคุ้นเคยในช่วงเวลาเย็น ๆ ตามซูเปอร์มาเก็ต อาหารเหล่านี้ยังสามารถบริโภคได้และมีคุณภาพดีด้วย หากจะทิ้งก็น่าเสียดายหากจะต้องถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยสามารถสั่งกลับบ้าน รับที่ร้าน หรือรับประทานที่ร้านได้
ทั้งนี้หากผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ตระหนักให้ความสำคัญ และร่วมกันรับผิดชอบช่วยกันลดขยะอาหาร ลดการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็น บริโภคอาหารอย่างพอเพียง จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางอาหาร เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในอนาคต
ที่มา : https://www.facebook.com/dcceth