อากาศร้อนภายนอกมีผลต่อการใช้แอร์ เพราะผลจากการวิจัย ถ้าอุณหภูมิภายนอกห้องสูงขึ้น 1 องศา จะทำให้มีการกินไฟจากการใช้แอร์เพิ่มขึ้นถึง 3% และหากเราตั้งค่าลดองศาของแอร์ 1 องศา ก็จะทำให้เกิดการใช้ไฟหนักมากขึ้นถึง 10%
แชร์วิธีใช้แอร์แบบไหนช่วยประหยัดไฟที่สุด
1.เลือกแอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดไฟ
โดยสังเกตจากฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัดไฟมาก พร้อมทั้งดูแลอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
2.เลือกแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง
โดยพิจารณาจากค่า BTU/hr (British Thermal Unit per hour) ซึ่งเป็นหน่วยสากลที่ใช้วัดขนาดความเย็นของแอร์ เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประหยัดพลังงาน
คนส่วนใหญ่มักเลือกซื้อแอร์ขนาดใหญ่เพื่อให้ห้องเย็นเร็วขึ้นซึ่งเป็นการตัดสินใจไม่ถูกต้อง เพราะการใช้แอร์ที่มี BTU สูงเกินความจำเป็นกับขนาดห้องจะทำให้คอมเพรสเซอร์ตัดบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ก็จะลดน้อยลง และทำให้ภายในห้องมีความชื้นสูงส่งผลให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายตัว และยังมีราคาแพงเกินความจำเป็น แต่หากเลือกแอร์ที่มี BTU ต่ำเกินไป การทำความเย็นจะช้า ไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ รวมถึงคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้แอร์เสียเร็ว สิ้นเปลืองพลังงาน และค่าไฟแพงขึ้น
ขนาดความเย็นของแอร์ | ขนาดห้องปกติ | ขนาดห้องโดนแดด |
9,000 BTU | 12-15 ตร.ม. | 11-14 ตร.ม. |
12,000 BTU | 16-20 ตร.ม. | 14-18 ตร.ม. |
18,000 BTU | 24-30 ตร.ม. | 21-27 ตร.ม. |
21,000 BTU | 28-35 ตร.ม. | 25-32 ตร.ม. |
3.เปิดแอร์ 26-27 องศา พร้อมพัดลม
การเปิดพัดลมเป็นการช่วยไล่ความร้อนภายในห้องก่อนเปิดแอร์ โดยการเพิ่มอุณหภูมิแอร์ไปที่ 26-27 องศาเซลเซียส จะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ 2 องศา แต่ประหยัดไฟมากกว่าการเปิดแอร์ที่ 23-24 องศาเซลเซียส ช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10%
4.หมั่นดูแลรักษาแอร์เป็นประจำ
เพราะภายในแอร์มีฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกสะสมอยู่ ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น การล้างแอร์ทุก 6 เดือน จึงทำให้แอร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปล่อยลมเย็นได้เหมือนเดิม ประหยัดค่าไฟได้มากถึง 10%
โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมกับพันธมิตรดำเนินโครงการ “ล้างแอร์ช่วยชาติ” เพื่อสนับสนุนให้คนไทยร่วมใจลดใช้พลังงาน ล้างแอร์ไปแล้วกว่า 15,000 เครื่อง ช่วยประหยัดพลังงานได้กว่า 2.26 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) หรือเปรียบเทียบเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลง 17.93 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 1,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมเพียงเล็กน้อย นอกจากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้วยังช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นหนทางที่พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมช่วยชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตได้
ที่มา : https://www.egat.co.th/home/20220819-art01/