ลดการใช้ Single-use Plastics ด้วยไผ่

ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก 

ประเทศไทยเองก็ได้มีความพยายามจัดการกับปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบและกำหนดทิศทางการดำเนินงานของประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติก 

โดยได้เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 

ในปี พ.ศ. 2562 ได้ยกเลิกการใช้แคปซีล พลาสติกผสมอ็อกโซ และไมโครบีดส์ และในปี พ.ศ. 2565 ได้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก 

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single- use plastic หมายถึง พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 200 ปี ตัวอย่างพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้วน้ำ ขวดน้ำกล่องอาหาร เป็นต้น

ซึ่งที่ผ่านมาภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีความพยายามค้นหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยหนึ่งในวัสดุที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ ผลิตภัณฑ์จาก “ไผ่” โดยการนำไผ่มาสานเป็นภาชนะหรือผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแทนพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว อาทิ การนำไผ่มาทำเป็นตะกร้าไม้ไผ่เพื่อใช้บรรจุสิ่งของหรือสินค้าที่จับจ่ายใช้สอยแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว การทำกระด้งขนาดเล็กหรือภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่เพื่อบรรจุอาหารหรืออาหารว่าง และทำเป็นกล่องอาหารที่แปรรูปมาจากเยื่อไผ่เพื่อทดแทนกล่องโฟม การทำเป็นแก้วไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่แทนแก้วน้ำพลาสติก และการใช้หลอดไม้ไผ่แทนหลอดพลาสติก เป็นต้น 

การใช้ผลิตภัณฑ์จากไผ่แทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากจะเกิดประโยชน์ในการลดขยะพลาสติกแล้วยังเป็นการส่งเสริมการใช้วัสดุในท้องที่ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และยังเป็นการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย 

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ทำจากไผ่ ส่วนมากผลิตขึ้นโดยชุมชนท้องถิ่นและวางจำหน่ายในร้านค้าของวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นการสนับสนุนสินค้าเหล่านี้จึงจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนของประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยอีกด้วย

ประชาชนควรตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก โดยร่วมกันจัดพื้นที่กิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเริ่มจากการปฏิเสธถุงหิ้วพลาสติก เปลี่ยนมาพกถุงผ้า แก้วน้ำ หลอด หรือกล่องอาหาร เป็นต้น 

ทำให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รณรงค์การ ” ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก ” เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต การบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภาคประชาชนควรเสนอให้ภาครัฐบรรจุหลักสูตรแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นภาคบังคับในทุกระดับชั้น

ที่มา

https://www.pcd.go.th/publication/28484/

https://library.parliament.go.th/