ไมโครพลาสติกและผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์
ในงานศึกษาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ทำการวิจัยหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ พบว่า มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็น 20 กรัมต่อเดือน 240 กรัมต่อปี !
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษา ต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจและค้นหาความจริงถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกายและสุขภาพของมนุษย์
ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมากทำให้ยากต่อการเก็บและกำจัด รวมถึงย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ไมโครพลาสติกจึงสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมพบได้ทั้งในน้ำจืด ตะกอนดินและในทะเล หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
ปัญหาการปล่อยไมโครพลาสติกจากการซักผ้า ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน ไมโครพลาสติกเหล่านี้เกิดจากการเสียดสีของเส้นใยผ้าในระหว่างการซัก และเมื่อถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในน้ำ
การศึกษาพบว่า การซักผ้าด้วยอุณหภูมิสูง การใช้ผงซักฟอกในปริมาณมาก และการใช้เครื่องอบผ้า เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการหลุดลอกของไมโครไฟเบอร์จากเสื้อผ้า ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องซักผ้าแล้ว มนุษย์ทุกคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ วันนี้จะมาแจกทริคสำหรับการซักผ้าที่ช่วยลดการปล่อยไมโครพลาสติก ดังต่อไปนี้เป็นวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
1.ซักผ้าด้วยน้ำเย็นหรืออุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส จะช่วยลดการเสียดสีของเส้นใยและป้องกันไม่ให้ไมโครไฟเบอร์หลุดลอกออกมา
2.ใช้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมและหลีกเลี่ยงการใช้ผงซักฟอกเกินความจำเป็น จะช่วยลดการเกิดฟองและลดการเสียดสีของเส้นใย
3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องอบผ้า ตากผ้าในที่ร่มจะช่วยลดความเสียหายของเส้นใยและป้องกันไม่ให้ไมโครไฟเบอร์หลุดลอกออกมา
4.ทำความสะอาดเครื่องซักผ้าเป็นประจำ ติดตั้งตัวกรองไมโครพลาสติก จะช่วยดักจับไมโครไฟเบอร์ที่หลุดลอกออกมาจากเสื้อผ้าก่อนที่จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ
5.เลือกใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ลูกบอลดักจับไมโครพลาสติก หรือถุงซักผ้าชนิดพิเศษ จะช่วยดักจับไมโครไฟเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคลแล้ว การส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ปล่อยไมโครพลาสติกน้อยลง และการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวอีกด้วย
ที่มา : https://www.facebook.com/dcceth
https://petromat.org/home/microplastics-human-health-impacts/