ยุคนี้การที่เรามีความรู้เรื่องรถยนต์พอสมควรจะช่วยให้สภาพรถยนต์ไม่เสื่อมเร็ว และที่สำคัญลดการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากอุปกรณ์รถยนต์มีปัญหาได้ ขอนำคำแนะนำของช่างที่มีประสบการณ์เครื่องยนต์แบบเป็น Step ที่เข้าใจง่ายให้อ่านกันดังนี้
ก่อนสตาร์ทเครื่อง และเครื่องยนต์ควรจะเย็นอยู่ และจอดบนพื้นราบ ไม่เอียง
- ให้เปิดฝาหม้อน้ำ ตรวจดูระดับน้ำยาหล่อเย็น ควรอยู่ในระดับที่มองแล้วเห็นน้ำต่ำลงไปเล็กน้อย ควรตรวจดูทุกสัปดาห์
(การเติมน้ำยาหล่อเย็น ควรใช้น้ำยาหล่อเย็น ไม่ควรใช้น้ำธรรมดาเติม เนื่องจากจะทำให้ภายในเครื่องผุกร่อนได้)
**ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำขณะเครื่องร้อนเด็ดขาด อาจถูกน้ำร้อนแรงดันสูงลวกได้** - ตรวจดูน้ำฉีดกระจกในกระป๋องฉีดน้ำ
- ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาเช็ดคราบน้ำมันด้วยกระดาษหรือผ้าแล้วเสียบกลับเข้าไป แล้วดึงออกมา ตรวจดูระดับน้ำมันเครื่อง ควรให้อยู่ระดับ F แต่ไม่เกิน ควรตรวจดูทุกเดือน
(คอยดูป้ายกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และใช้น้ำมันเครื่องเกรดที่เหมาะสมกับกิโลเมตรสะสมของตัวรถ ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ Synthetic สามารถใช้งานได้ถึง 1 หมื่นกิโลเมตร จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง) - เปิดฝาหม้อกรองอากาศ ตรวจเช็คไส้กรองอากาศ ถ้าดูเริ่มมีสีคล้ำเนื่องจากฝุ่น ให้ถอดออกมาเป่าด้วยเครื่องพ่นลม ควรตรวจดูทุก 5,000 กม. (ควรเปลี่ยนทุก 20,000 กม.)
- ตรวจเช็คหลอดไฟต่างๆ เปิดสวิทช์ไฟหน้า ไฟหรี่ และไฟเลี้ยวกระพริบ แล้วเดินเช็ครอบรถ ควรตรวจดูทุกสัปดาห์
**เช็คแล้วอย่าลืมปิดสวิทช์ไฟ** - ตรวจเช็คหลอดไฟเบรค โดยเหยียบเบรค ให้คนช่วยมองไฟท้ายรถ ควรตรวจดูทุกสัปดาห์
สตาร์ทเครื่อง รอจนพัดลมระบายความร้อนทำงาน ที่อุณหภูมิประมาณ 80 องศา หรือหลังจากวิ่งใช้งานเสร็จ นำกลับมาจอด ยังไม่ต้องดับเครื่อง โดยจอดบนพื้นราบ ไม่เอียง
- เหยียบเบรคค้างไว้ แล้วดึงเกียร์ลงมาทีละตำแหน่ง โดยค้างไว้ตำแหน่งละ 5 วินาที แล้วจึงเปลี่ยนไปตำแหน่งต่อไป จนสุด แล้วดันเกียร์ขึ้นทีละตำแหน่งจนกลับมาเกียร์ P เปิดฝากระโปรงหน้า ดึงก้านวัดน้ำมันเกียร์ เช็ดคราบน้ำมันด้วยกระดาษหรือผ้า แล้วเสียบกลับเข้าไป แล้วดึงขึ้นมา ตรวจดูระดับน้ำมันเกียร์ ให้อยู่ในระดับ Hot
(น้ำมันเกียร์ควรเปลี่ยนทุก 40,000 กม. และต้องใช้น้ำมันเกียร์เกรดที่คู่มือประจำรถกำหนดไว้) - เช็คหลอดไฟถอยสีขาว ควรมีคนช่วยมองไฟท้ายรถ เหยียบเบรคค้างไว้ เข้าเกียร์ถอย (R) ให้คนช่วยดูว่าไฟถอยติดทั้ง 2 ข้างหรือไม่ เช็คแล้วให้เปลี่ยนเกียร์มาที่ตำแหน่ง P ควรตรวจดูทุกสัปดาห์
เมื่อขับรถอยู่
ให้คอยสังเกตดูไฟเตือนที่หน้าปัดด้วย ส่วนใหญ่ที่มีไฟโชว์จะเตือน
- น้ำมันใกล้หมด ขีดน้ำมันกระพริบใกล้ตัว E หรือมีไฟเตือนติดค้างไว้ใกล้ขีดน้ำมัน
- ความร้อนเครื่องยนต์สูงเกินไป (Heat) จะต้องรีบจอดเข้าข้างทาง แล้วดับเครื่องทันที
- ไฟรูปเครื่อง จะโชว์เมื่อเครื่องยนต์มีปัญหา ให้สังเกตอาการของเครื่อง อาจจะพอขับต่อได้
เมื่อใช้งานรถเสร็จ
- ดับเครื่อง ปิดประตูทุกบาน แล้วเช็คว่าลืมปิดไฟเพดาน หรือไฟหน้ารถหรือไม่ และไฟเบรคติดค้างหรือไม่ แล้วจึงล็อครถ
กรณีคิดว่าจะไม่ได้ใช้รถนานเป็นเดือน หรือมากกว่า 2 สัปดาห์
แนะนำให้ถอดขั้วลบแบตเตอรี่ออก หรือให้นำรถออกใช้งานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือซื้อเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ไว้คอยชาร์จแบต เมื่อดูตาแมว แล้วเห็นว่าระดับไฟอ่อน แบตจะได้ไม่หมด และมีอายุการใช้งานยาวขึ้น (การถอดขั้วแบตเตอรี่จะทำให้ไฟเลี้ยงอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถดับลง เช่น วิทยุ ที่ตั้งสถานีวิทยุไว้จะหายไป บางคันที่ไฮเทคมาก อาจต้องนำรถไปเซ็ตระบบเครื่อง ดังนั้นตรวจสอบให้ดี หรือสอบถามกับศูนย์รถยนต์ก่อนถอดขั้วแบตเตอรี่)
ที่มา : คุณทวีศักดิ์ (ช่างรถยนต์)
Image by Freepik