สธ.เพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์จราจร ช่วยลดการบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย อัตราการตายจากการจราจรของไทยอยู่ที่ 25 ต่อแสนประชากร สูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก หนุนสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การจราจรเพิ่ม เพื่อช่วยลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) กระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2566 สมาคมเวชศาสตร์การจราจร หัวข้อ “ภาพใหม่เชิงระบบสู่งานเวชศาสตร์การจราจร เทคโนโลยี การจัดการ และเวชปฏิบัติ”(New Ecology of Traffic Medicine: Technology, Management & Clinical practice)
โดยมี นพ.อำนวย กาจีนะ นายกสมาคมเวชศาสตร์การจราจร กรรมการบริหารสมาคม Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คณะผู้บริหาร ตลอดจนแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 250 คน
นายสันติ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรสร้างความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศเป็นอย่างมาก โดยในปี 2562 มีมูลค่าความสูญเสียของประเทศ รวม 642,743 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 ของ GDP
ไทยครองแชมป์อุบัติเหตุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปี 2561 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากเว็บไซต์ของ WHO พบว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการแบ่งของรายงานฉบับนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยแบ่งตามภูมิศาสตร์ พบว่าประเทศไทยยังคงมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุด โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
เมื่อพิจารณาอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแบ่งตามประเภทผู้ใช้ยานพาหนะ เท่าที่รายงานฉบับนี้มีข้อมูล พบว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตของคนใช้รถยนต์, คนใช้จักรยานยนต์ และคนใช้จักรยาน อยู่ที่ 4 คน, 24.3 คน และ 1.1 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ตามลำดับ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าในไทยอยู่ที่ 2.5 คน ต่อประชากร 1 แสนคน เป็นรอง ปาปัวนิวกินี, ศรีลังกา และเมียนมา ซึ่งอยู่ที่ 6.7 คน, 4.3 คน และ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ตามลำดับ
และจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราการตายจากการจราจรทั้งโลกอยู่ที่ 15 ต่อแสนประชากร ประเทศไทย อยู่ที่ 25 ต่อแสนประชากร สูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ซึ่งการมีผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การจราจรที่มีความรู้ความสามารถและมีจำนวนที่เพียงพอ จะมีส่วนสำคัญต่อการลดปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร
การประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้แพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในงานเวชศาสตร์การจราจรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศความปลอดภัยการจราจร
ทั้งด้านเทคโนโลยียานยนต์และการขนส่ง รูปแบบการจัดการจราจรยุคใหม่ นวัตกรรมด้านการจัดการความปลอดภัย วิทยาการทางการแพทย์ด้านการป้องกันและการรักษา
ตลอดจนเกิดการบูรณาการความร่วมมือนำไปสู่การสร้างสรรค์มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดความเร็ว กฎหมายเมาแล้วขับ การสวมหมวกกันน็อค การใส่เข็มขัดนิรภัย และให้มีระบบสายรัดหรือที่นั่งสำหรับเด็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนน
ที่มา : https://pr.moph.go.th