ต้อกระจกสิทธิบัตรทองคุ้มครอง ‘ผ่าตัด-ใส่เลนส์แก้วตาเทียม’ ด้วยมาตรฐานระดับโลก

ข้อมูลจาก World Report on Vision 2019 ซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ชัดว่า 45% ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั่วโลก (ประมาณ 2,200 ล้านคน) หรืออย่างน้อย 1,000 ล้านคน เกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ หรือยังสามารถแก้ไขได้หากมีการตรวจพบอย่างทันท่วงที

หนึ่งในนั้น คือ โรคต้อกระจก

“ต้อกระจก” เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของ “เลนส์แก้วตา” โดยเป็นไปตามวัยของคนเรา คือเมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาปกติที่มีความ “ใส” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและเริ่ม “ขุ่น” มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มองเห็นไม่ชัด คล้ายกับมีม่านหมอกบดบังตลอดเวลา รวมถึงอาจมองเห็นภาพซ้อน เห็นแสงไฟกระจาย เห็นสีผิดเพี้ยน สู้แสงสว่างไม่ได้ และค่าสายตาผิดปกติหรือสั้นเพิ่มขึ้น 

โรคต้อกระจกนี้ถ้าปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคต้อหินเฉียบพลัน  หรือการอักเสบรุนแรงในดวงตา ซึ่งมีความร้ายแรงถึงขั้นทำให้ “ตาบอด” ได้

ในส่วนของการรักษานั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่เป็นต้อขุ่นออก และนำ “เลนส์แก้วตาเทียม” ซึ่งเป็นอวัยวะเทียมที่มีความใส เข้าได้กับเนื้อเยื่อดวงตา และมีความปลอดภัยสูง ใส่ทดแทน

อย่างไรก็ดี การผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียมยังมีราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่น – 4 หมื่นบาท หรือขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล ซึ่งด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลือกไม่รับการรักษา และเลือกที่จะอดทน แม้ตนเองจะต้องสูญเสียการมองเห็น

แต่ไม่ใช่กับ นางนิยม ชวนแพร อายุ 64 ปี ที่เมื่อหลายเดือนก่อนตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามองเห็นภาพตรงหน้าได้ไม่ชัดแม้จะใส่แว่นสายตาก็ตาม เธอเข้าใจว่าอาจเป็นค่าสายตาตัวเองที่เปลี่ยนไป จึงไปที่ร้านแว่นตาเพื่อจะตัดแว่นอันใหม่ แต่ได้รับการแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าผลที่ออกมาคือตาของเธอเป็นโรคต้อกระจก

จากนั้นนางนิยมจึงตัดสินใจไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) อ.สามพราน จ.นครปฐม ผ่านการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง เมื่อผ่าตัดเสร็จก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลยในวันนั้น หรือที่เรียกว่าผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่บัตรทองครอบคลุมเช่นกัน

แต่ในกรณีของนางนิยม เนื่องจากมีภาวะโรคเบาหวานที่ต้องการการควบคุมร่วมด้วย ในการผ่าตัด 2 ครั้งสำหรับตาทั้ง 2 ข้าง แพทย์ได้ให้นอนพักฟื้นเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาลอีก 2 วัน เพื่อติดตามอาการหลังการผ่าตัดจนปลอดภัย กระนั้นก็ “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” ใด ๆ เลยในกระบวนรักษา 

“เลนส์แก้วตาเทียมที่เราใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยนั้นมีคุณภาพสูงและเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีทั้งความปลอดภัย ความคมชัด การผ่าตัดก็มีแผลเล็ก โดยทั่วไปไม่ต้องเย็บแผล หรือในบางรายที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด้วยเครื่องมือที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น สิทธิบัตรทองก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในทุกกรณีของการผ่าตัดรักษาต้อกระจก” นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ ระบุ

ยิ่งไปกว่านั้น นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ยังยืนยันด้วยว่า ภายใต้อัตราการเบิกจ่ายด้านการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ทางโรงพยาบาลก็สามารถที่จะให้บริการได้ไม่เป็นปัญหา  

“เรื่องดวงตา แม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่โรคเหล่านี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ทั้งอาการของโรค ความเป็นอยู่ของครอบครัว รวมไปถึงความสูญเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เพิ่มขึ้นหลายอย่างในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการช่วยเหลือในส่วนนี้ จึงมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคอื่น ๆ” นพ.อาคม กล่าว

ทั้งนี้ จากประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ มีรายละเอียดการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับตาต้อกระจก ดังนี้

  1. การผ่าตัดในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตามองไม่เห็น และภาวะสายตาเลือนรางรุนแรง (Blinding & Severe low vision) จ่ายอัตราข้างละ 7,000 บาท สำหรับผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตาอื่นๆ ข้างละ 5,000 บาท และสำหรับการผ่าตัดที่มีภาวะแทรกซ้อน จ่ายอัตราข้างละ 9,000 บาท 
  2. ค่าเลนส์แก้วตาเทียม กรณีเลนส์พับได้อัตราข้างละ 2,800 บาท และเลนส์แข็งอัตราข้างละ 700 บาท เฉพาะเลนส์แก้วตาเทียมตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม และข้อบ่งชี้ในการบำบัดรักษาโรค

โรคต้อกระจก คือโรคที่เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาซึ่งปกติจะใส ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการตามัวตลอดเวลา สู้แสงไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดได้ การรักษาโรคต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อปรับสายตาให้เห็นเป็นปกติ

ผู้มีสิทธิบัตรทองหากมีอาการดังกล่าว นำบัตรประจำตัวประชาชนเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

1.สายด่วน สปสช. 1330 

2.ช่องทางออนไลน์

  • ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
  • Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
  • ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw

Image by storyset on Freepik