วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวัฒน์ ทาบึงกาฬ รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารกระทรวงฯ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าร่วมการประชุม ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
รมว.ทส. กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองมีความรุนแรงมากขึ้น ได้ตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และเร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับพื้นที่ โดยได้มีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์ พร้อมระดมความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ” เน้นสื่อสารทุกระดับของภาครัฐ
ควบคุมให้ลดการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก มุ่งเป้าที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง
เน้นมาตรการ “ตรึงพื้นที่ ให้มีจุดเฝ้าระวังทุกพื้นที่ป่า จัดระเบียบการเก็บหาของป่าอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่ผ่านการลงทะเบียนรายบุคคล ปิดป่าเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง”
จัดการเชื้อเพลิงในห้วงเวลาที่เหมาะสม ตั้งจุดเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ กำลังพลและเครื่องมือพร้อมปฏิบัติในการดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงที ดึงหมู่บ้านเครือข่ายดับไฟป่าร่วมในการดับไฟป่า
โดยมีเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ลดลง 50 % จากปี พ.ศ.2566 นอกจากนี้ ทส.ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ประสานงานขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในระดับอาเซียนและระดับพหุภาคี ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึงทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง
ในส่วนของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและมลพิษทางอากาศ ด้วยการสื่อสารเชิงรุก สร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ลดปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ครอบคลุมพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม
รวมถึงพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และภาคีเครือข่าย สร้างการรับรู้ให้กับชุมชนในรูปแบบเคาะประตูบ้าน ในการเฝ้าระวังไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 และตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมี สมาชิก ทสม. ครอบคลุมทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคนและ พื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือ กว่า 7 หมื่นคน
นอกจากนี้ ยังยกระดับศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านและชุมชนต้นแบบปลอดการเผา พื้นที่ภาคเหนือ ขยายผลสู่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และภาคกลางต่อไป
และที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ได้มีสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาสังคม และเครือข่าย ทสม. พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมรับนโยบาย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
ประชาชนสามารถสแกน QR CODE และดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่…
https://drive.google.com/…/1gfEPXIbLxK_08J-v3ma…/view…
ที่มา :Dcce.go.th