ภาวะตะคริวสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยและมักจะเกิดในผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่นเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจะลดลง และเกิดการอ่อนล้าได้ง่าย
โดยปกติตะคริวไม่อันตราย เว้นแต่ก่อให้เกิดอาการปวดนานเป็นชั่วโมง และส่งผลให้ขยับเขยื้อนได้ลำบากในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เกิดตะคริวขณะว่ายน้ำ หรือกำลังปีนบันได
นอกจากนี้การเป็นตะคริวบ่อย หรือการที่บริเวณที่เป็นมีลักษณะบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนสี แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเกิดโรคอื่นๆได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตะคริวเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะทันหัน ซึ่งพบได้บ่อยในกล้ามเนื้อขา ปัจจัยที่ทำให้เกิดได้นั้นมีหลายสาเหตุ ได้แก่
- การใช้กล้ามเนื้อนั้นๆ มากเกินไป ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายไม่เพียงพอ
- ยาบางตัว เช่น ยาไขมัน (กลุ่ม Statin) ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
- โรคบางอย่างหรือภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น โรคไต โรคพาร์กินสัน ไทรอยด์ น้ำตาลต่ำ ดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ระดับเกลือแร่บางอย่างในร่างกายต่ำ ภาวะร่างกายขาดน้ำ ภาวะเครียด หรือเส้นประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น
- การไหลเวียนของเลือดบกพร่อง เช่น ภาวะเส้นเลือดตีบตัน หรือการบีบตัวของหัวใจไม่ดี
- การทำงานของเซลล์ประสาททำงานผิดปกติ
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้สูงอายุเป็นตะคริวควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- พักการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนนั้น
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ
- นวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งมากอาจใช้น้ำอุ่นหรือถุงอุ่นประคบ
- หากตะคริวลดลงแต่ยังคงมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
- หากพบว่าเป็นตะคริวบ่อย หรือทำให้รบกวนการนอนหรือนอนไม่หลับควรปรึกษาแพทย์
วิธีป้องกันการเกิดตะคริวในผู้สูงอายุ
- หากไม่มีข้อห้ามหรือโดนจำกัดการดื่มน้ำ ให้ดื่มน้ำประมาณ 2-3 ลิตร/วัน
- ก่อนเข้านอนสามารถออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาโดยการปั่นจักรยานอยู่กับที่เบา ๆ ประมาณ 2-3 นาที เพื่อคลายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- จิบเครื่องดื่มเกลือแร่ก่อนและหลังออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความทนทานของกล้ามเนื้อ โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำและมีการเคลื่อนไหวไม่เร็วมากซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุ
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังออกกำลังกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียม ได้แก่ กล้วย ส้ม แคลเซียม ได้แก่ นม ปลาตัวเล็กๆ ที่รับประทานทั้งก้างได้ อาหารที่มีวิตามินอี เช่น ถั่ว น้ำมันพืช วิตามินบี 12 เช่น อาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น
- หลีกเลี่ยงอากาศเย็น และขณะนอนหลับควรให้บริเวณขาและเท้าอบอุ่นอยู่เสมอด้วยการห่มผ้าหรือสวมถุงเท้า
- หาหมอนรองปลายเท้าขณะหลับ
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อน่องและฝ่าเท้าในช่วงกลางวัน
- หากกินยาแล้วมีอาการเป็นตะคริวซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
ที่มา : www.dms.go.th
Image by Freepik