มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยร้าย…ท่านชายอย่ามองข้าม 

เดือนสิงหาคม ร่วมรณรงค์ต้านภัยเงียบจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตัวร้ายที่ท่านชายไม่ควรมองข้าม เมื่อมีภาวะที่ผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบได้เร็ว มีโอกาสรักษาหายและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ต่อมลูกหมาก” เป็นอวัยวะสำคัญของเพศชาย มีหน้าที่สร้างสารเลี้ยงอสุจิและน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงอายุ และหากเซลล์ในต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็น “มะเร็งต่อมลูกหมาก” 

มะเร็งต่อมลูกหมากพบได้บ่อยเป็นลำดับ 4 ของมะเร็งในเพศชาย จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) พบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยรายใหม่ วันละ 10 คน หรือ 3,755 คนต่อปี เสียชีวิตวันละ 5 คน หรือ 1,830 คนต่อปี  พบมากในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป  มีประวัติ บิดา พี่ชายหรือน้องชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 

ระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนแต่มักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือพบสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA: serum prostatic antigen) สูงเกินค่าปกติ เซลล์มะเร็งเมื่อขยายตัวจนเบียดท่อปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง กลั้นไม่อยู่ ปวดแสบเวลาปัสสาวะและมีเลือดปนมากับปัสสาวะหรืออสุจิ ซึ่งอาการเหล่านี้คล้ายคลึงกับโรคต่อมลูกหมากโตจึงต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัยแยกโรค หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจทำให้ปวดหลัง ปวดสะโพก กระดูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด ขาบวม หรือตัวเหลืองตาเหลืองได้ 

นายแพทย์พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายปัจจัย

ได้แก่

1.การรับประทานแคลเซียมในปริมาณสูงมากกว่า 2 กรัมต่อวัน 

2.ทานไขมันอิ่มตัวจากสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม

3.มีภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ 

4.และการใช้ฮอร์โมนเพศแอนโดรเจน(Androgen) 

5.การมีภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังและมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเช่นกัน

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในปัจจุบันแนะนำให้ตรวจในเพศชายที่อายุระหว่าง 45-75 ปี ด้วยการคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักร่วมกับตรวจระดับสารบ่งชี้ในเลือด (serum PSA) หากพบค่าสูงมากกว่า 4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรหรือคลำพบก้อน บ่งชี้ถึงภาวะเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 

ถัดมาคือการเจาะเก็บชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนักแบบสุ่ม (Random TRUS prostate biopsy) โดยใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อเจาะเก็บชิ้นเนื้อ 10-12 ชิ้น นำไปตรวจหาเชลล์มะเร็ง 

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากปัจจุบัน

ใช้วิธีการเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณต่อมลูกหมาก (multiparametric MRI prostate) และใช้ภาพเอ็กซเรย์เป็นแผนภาพนำทางในการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (MRI fusion-targeted prostate biopsy) ซึ่งช่วยลดจำนวนชิ้นเนื้อที่ต้องเจาะเก็บและลดการเจาะในรายที่มีความเสี่ยงต่ำ ช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบเจอมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้น 

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค โดยจะพิจารณาร่วมกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย 

1.การตรวจติดตามหรือเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยในกลุ่มที่มะเร็งมีการลุกลามต่ำ 

2.การผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออก (Radical prostatectomy) 

3.การใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย 

4.การฉายแสง ฝังแร่ การให้ยาเคมีบำบัด 5.การผ่าตัดตัดอัณฑะรวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) 

วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันที่นิยมมีอยู่ 2 วิธี 

คือการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมดผ่านกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy) และการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (robotic-assisted laparoscopic radical prostatectomy) โดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยศัลยแพทย์ซึ่งมีความแม่นยำในการเก็บเส้นประสาทที่ช่วยในเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากโดยวิธีการเจาะหาสารบ่งชี้ในเลือด (serum PSA) ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการทำให้ตรวจพบเจอผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นเพิ่มมากขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาโรคให้หายขาด 

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ไหม้เกรียม ช่วยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งและมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ 

สามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง 

http://allaboutcancer.nci.go.th/ 

เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง

ที่มา : กรมการแพทย์

Image by Freepik