มารู้จักโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุและการดูแล

มารู้จักโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุอาอัมพฤกษ์ อัมพาต และการดูแลสุขภาพสมองระยะยาว 

 กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนให้ประชาชนตื่นตัวป้องกัน หากพบอาการ ปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด แขน ขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง สับสนพูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มองเห็นลดลง มีปัญหาการเดิน มึนงง ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต ลดเสี่ยงพิการและลดตายได้

ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ 

โรคนี้ถ้าหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีส่วนใหญ่ จะมีความพิการหลงเหลือตามมา 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง  

1.ความดันโลหิตสูง 

2.เบาหวาน 

3.ไขมันในเลือดสูง 

4.มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 

5.ขาดการออกกำลังกาย 

6.น้ำหนักเกิน 

7.สูบบุหรี่ 

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเตือนสำคัญ คือ

1.แขน ขาอ่อนแรงซีกเดียวของร่างกาย

2.สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง 

3.ตามองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง 

4.มีปัญหาการเดิน มึนงง 

ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดฉับพลันให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุด ในระบบการแพทย์ STROKE FAST TRACK จะรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชนิดของโรคหลอดเลือดหลักๆมี 2 ประเภท 

คือ ภาวะหลอดเลือดออกในสมอง และภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน 

ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอาการอาจแยกกันยาก ต้องอาศัยประวัติ ตรวจร่างกาย และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมด้วย 

โดยภาวะหลอดเลือดสมองแตก อาการมักจะรุนแรงโดยมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด มากขึ้นรวดเร็ว จนถึงหมดสติ ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะและโป่งพอง และสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น 

ภาวะสมองขาดเลือด พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูของหลอดเลือดค่อยๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง

ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและการทราบถึงอาการเบื้องต้นเพื่อการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา หากมีอาการสงสัยมาเร็วที่สุด จะลดการตายและพิการได้ รวมทั้งจะมีโอกาสสูงมากในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น

เพื่อป้องกันกลับมาเป็นซ้ำจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจําเป็นต้องได้รับการประเมินโดยทีม สหสาขาวิชาชีพเพื่อปาบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่างกายให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจําวันได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด  ซึ่งต้องอาศัยความต่อเนื่อง และระยะเวลาในการฟื้นตัว ตั้งแต่ 6 -12 เดือน การทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟู ผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองได้

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้โดย

  1. ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
  2. รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลาย ลิ่มเลือด และยาอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ เป็นไปตาม คําแนะน่าของแพทย์ผู้รักษา
  3. ออกกําลังกายสม่ำเสมอ
  4. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และลดอาหารบางชนิดตามความเสี่ยงโรค
  5. เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา

ที่มา : www.dms.go.th สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม