จากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงสร้างความเดือดร้อนแบบที่เรียกว่า “แสนสาหัส” กับประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรัฐบาลรักษาการเลือกวิธีขออนุญาต กกต. ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินระหว่างการเลือกตั้งถึง 11,112 ล้านบาท มาช่วยลดค่าไฟให้กับบ้านอยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566
สภาผู้บริโภค เห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ทำให้ปัญหาที่แท้จริงได้รับการแก้ไข ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ช่วยได้เฉพาะกลุ่มไม่ทั่วถึง ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงล่าสุด รัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณเพื่อลดค่าไฟเฉพาะกลุ่มมากถึง 29,465 ล้านบาท
การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ต้นตอ สภาผู้บริโภคได้ศึกษาและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบเหตุแห่งปัญหาค่าไฟแพงที่สำคัญ ดังนี้
- ค่าไฟแพงเพราะ รัฐบาลวางแผนผลิตไฟฟ้าผิดพลาดเน้นความมั่นคงแบบสุดโต่ง เปิดช่องให้เกิดการอนุมัติสร้างและซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจนเกินความต้องการ
ปัญหานี้ต้องลากยาวไปถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2579 (PDP 2015) ที่ไปกำหนดให้ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ขณะที่มาตรฐานสากลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10 – 15 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด การที่แผน PDP 2015 กำหนดไฟฟ้าสำรองแบบกลับด้าน จึงกลายเป็นการขยายเพดานเปิดช่องให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองถึงร้อยละ 50 – 60 แม้กระทรวงพลังงานจะชี้แจงว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะต้องคิดจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงหรือพึ่งได้เท่านั้น ไม่ควรคิดจากกำลังผลิตตามสัญญาทั้งหมด แต่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามวิธีที่กระทรวงพลังงานคิดก็ยังสูงถึงร้อยละ 30 เกินมาตรฐานสากลอยู่ดี
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 13 โรง เกิดภาวะ “ว่างงาน” ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่ได้เงิน “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต้องจ่ายตามสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” หรือ Take or Pay ซึ่งในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2566 มี 2 โรงว่างงานได้ค่าความพร้อมจ่ายรวมเป็นเงิน 1,415 ล้านบาท และในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 มีถึง 6 โรงไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยสักเดือน ได้ค่าความพร้อมจ่ายรวมเป็นเงิน 6,187 ล้านบาท และยังมีหลายโรงไฟฟ้าแม้จะได้เดินเครื่องแต่ก็ไม่ได้เดินเครื่องเต็มกำลังผลิต ประกอบกับเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ กฟผ. ซื้อ มีอัตราค่าไฟสูงตั้งแต่ 6 – 12 บาทต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายทั้งค่าความพร้อมจ่ายและค่าซื้อไฟฟ้าเหล่านี้ถูกนำมาอยู่ในค่า Ft ที่เรียกเก็บกับประชาชนนั่นเอง
- ค่าไฟฟ้าแพงเพราะ การจัดหาก๊าซธรรมชาติขาดประสิทธิภาพและการจัดสรรก๊าซไม่เป็นธรรม
เหตุที่ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เพิ่มขึ้น มี 2 สาเหตุสำคัญคือ
1) ปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชลดลงจาก 1,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือหายไปครึ่งหนึ่งของที่เคยผลิตได้ในปี 2563 ปัญหานี้เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัญญาใหม่กับเก่าไม่เป็นไปตามแผนซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
2) ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงแต่แต่รัฐบาลยังคงนโยบายจัดสรรก๊าซให้โรงแยกก๊าซของ ปตท. ไปผลิตวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือเป็นลำดับแรก ก๊าซส่วนที่เหลือถึงจะผลิตเป็นก๊าซ LPG และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง เมื่อเกิดปัญหาก๊าซในอ่าวไทยขาด ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไม่พอ จึงมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาให้ใช้แทน แต่ไม่ได้ใช้ฟรีหรือมีราคาลด ต้องใช้ราคาตลาดโลก เมื่อนำราคา LNG ที่มีราคาแพงมาอยู่ในราคา Pool Gas ของการผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ราคา Pool Gas ของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย และถูกส่งผ่านมาอยู่ในค่า Ft ในท้ายที่สุด
- ค่าไฟแพงเพราะ สูตรการคิดค่า Ft ใช้หลักการไม่เป็นธรรมกับประชาชนจ่ายที่เกิดขึ้น
ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปรโดยอัตโนมัติ ที่มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือนหรือ 3 ครั้งต่อปี (มกราคม – เมษายน พฤษภาคม – สิงหาคม และกันยายน – ธันวาคม) ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้สูตรคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน เป็นการคาดการณ์ค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือน และเรียกเก็บเป็นค่าคงที่ตลอด 4 เดือน ส่วนต่างระหว่างต้นทุนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงและค่า Ft ที่เรียกเก็บ จะถูกนำไปคิดเพิ่มหรือลดในค่า Ft รอบถัดไป
สูตรค่า Ft แบบนี้จึงไม่ได้คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จึงย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้ เช่น การคิดค่าเชื้อเพลิงในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 คาดการณ์ว่าราคา LNG ตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 1,300 – 1,400 บาทต่อล้านบีทียู จากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะสูงถึง 90 – 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ความเป็นจริงราคา LNG หลังจากเดือน ก.ย.2565 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 600 บาทต่อล้านบีทียูในเดือน มี.ค. 2566 ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสแรกของปี 2566 เฉลี่ยอยู่เพียง 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น การคาดการณ์ราคาค่าเชื้อเพลิงที่คลาดเคลื่อนสูงเกินจริงแบบนี้ กลายเป็นภาระค่า Ft ในรอบ 4 เดือนนั้นๆทันที จะรอการลดทอนคืนก็ต้องรอการคิดคำนวณใหม่ในรอบ 4 เดือนถัดไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะได้ทอนคืนครบถ้วนหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยใหม่ๆที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้อีกในอนาคต
จากสาเหตุที่กล่าวมา สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงแบบที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังนี้
- ให้ กกพ. ทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่ใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้คำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน
- ให้กระทรวงพลังงานและ กกพ. ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยให้นำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย จะทำให้ราคา Pool Gas ลดลงได้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทต่อปี หรือลดค่าไฟฟ้าได้ 23 – 25 สตางค์/หน่วย
- ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้ ปตท. จัดสรรรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ. เพิ่มเติม ซึ่งจากการคำนวณส่วนต่างเบื้องต้นของมูลค่าก๊าซอีเทนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฉพาะในปี 2564 พบว่าจะเกิดส่วนต่างมูลค่าหลังหักค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการประกอบกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงควรนำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของ กฟผ. ได้รวดเร็วมากขึ้น
- การแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกิน กระทรวงพลังงานต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หยุดเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าใหม่ และควรเจรจาต่อรองปรับปรุงสัญญากับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อลดค่าซื้อไฟฟ้า รวมทั้งค่าความพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้น
- ให้ กกพ. ประกาศให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยการยอมให้มิเตอร์หมุนคืนได้(แบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เหล่านี้คือมาตรการที่รัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้าควรดำเนินการโดยทันทีเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของประเทศลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย เพื่อลดความทุกข์เพิ่มความสุขให้กับผู้บริโภค ประชาชนอย่างยั่งยืน
ที่มา : https://www.tcc.or.th/25052566_eletricity-fair_article/