บางพื้นที่ของประเทศไทยมักประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้งยาวจนถึงปี 2568 ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลามีน้ำมากก็หาแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อให้สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี
ธนาคารน้ำใต้ดินเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ด้วยแนวคิดน้ำมากก็ฝากไว้ใต้ดิน น้ำน้อยค่อยเอาออกมาใช้ โดยปัจจุบันการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมกับระบบธนาคารน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา คัดเลือกองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีไม่มีการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน และไม่ควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะเสี่ยงการปนเปื้อนจาก โลหะหนัก สารเคมี สู่ดินและน้ำใต้ดินในระยะยาว
ธนาคารน้ำใต้ดินมี 2 ระบบ คือ
- ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ แล้วดำเนินการจัดทำภายในบ่อตามรูปแบบที่กำหนด เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดที่ได้จัดทำขึ้นมา
- ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการเปิดผิวดินเพื่อที่จะสามารถใช้น้ำในระดับผิวดินได้เลย โดยจะมีการขุดบ่อขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และความต้องการ โดยการเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี ซึ่งน้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งเมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกล ๆ เป็นการประหยัดพลังงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
ประโยชน์ของการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ได้แก่
1) แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง
2) แก้ไขปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง
3) ช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินน้ำบาดาล
4) ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้และพืชเขียวทั้งปี
5) ลดปริมาณน้ำเสียในชุมชน
6) ลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนขวางทางน้ำ การกัดเซาะถนนของน้ำหรือน้ำป่าไหลหลาก
7) ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า
8) ช่วยลดการเกิดโรคระบาดจากแมลงต่าง ๆ เช่น ยุง แมลงวัน
9) แก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยการส่งน้ำจากผิวดินลงไปกดทับน้ำเค็มที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
10) กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่เพียงพอในการทำการเกษตร สามารถพึ่งพาตนเองได้
ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้สำเร็จด้วยการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ตัวอย่าง เช่น
ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จากชุมชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง เพราะเป็นที่สูงต้องรอน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น เมื่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดินแล้วก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ จนกลายเป็น“ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน”
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากที่เกษตรกรต้องซื้อน้ำใช้ถึงปีละ 1 ล้านบาท กลับมีน้ำใช้ในการเลี้ยงหมูและปลูกพืชได้ทั้งปี
และชุมชนรอบเขายายดา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เดิมประสบปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำส่วนเกินจากหน้าฝนสร้างความชุ่มชื้นให้ดินได้ตลอดทั้งปี
จากความสำเร็จของชุมชนต่างๆ นั้น จะเห็นว่าธนาคารน้ำใต้ดินเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ด้วยการเก็บน้ำส่วนเกินจากหน้าฝนไว้ใช้ประโยชน์ยามแล้ง รวมถึงเกษตรกรสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ ส่งผลดีต่อผลผลิตและนำไปสู่การมีรายได้ภาคเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน
ที่มา :