พายุฟ้าคะนองคืออะไร

พายุฟ้าคะนองนี้บางครั้งเรียก พายุไฟฟ้า (electrical storm) โดยทั่วไปเป็นพายุที่เกิดเฉพาะท้องถิ่น เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีฟ้าแลบ (lightning) กับฟ้าร้อง (thunder) รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นมักจะมี ลมกระโชกแรง (strong gust) และฝนตกหนัก (heavy rain) เกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บ (hail) ตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น มีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง

พายุฟ้าคะนองเป็นผลเนื่องมาจากในเขตร้อนอากาศมีความชื้นมากและมีอุณหภูมิสูงทำให้อากาศไม่มีเสถียรภาพ (instability) หรือบรรยากาศมีอาการไม่ทรงตัวเกิดการผสมคลุกเคล้าจากข้างล่างขึ้นข้างบนและจากข้างบนลงข้างล่าง ในขั้นแรกอากาศหรือบรรยากาศเกิดการไหลขึ้นอย่างรุนแรง (strong convective updraft) และในขั้นต่อมาซึ่งเป็นขั้นสลายตัว (dissipating stage) จะมีกระแสอากาศไหลลงอย่างรุนแรง (strong downdraft) ภายในคอลัมน์ (ช่วง) ของฝน พายุฟ้าคะนองนี้บ่อยครั้งก่อตัวได้สูงถึง 40,000 – 50,000 ฟุต ในบริเวณละติจูดกลาง (mid – latitude) และสูงมากกว่านี้ในเขตร้อน บรรยากาศตอนล่างของชั้นสตราโตสเฟียร์ที่มีเสถียรภาพดีมาก (great stability) เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการก่อตัวของเมฆพายุฟ้าคะนองได้

ในทางอุตุนิยมวิทยาพายุฟ้าคะนองแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ แล้วแต่ธรรมชาติของกาลอากาศขณะนั้น เช่น พายุฟ้าคะนองแบบมวลอากาศ (air – mass thunderstorm) พายุฟ้าคะนองในแนวสควอลล์ (squall – thunderstorm) และพายุฟ้าคะนองแบบแนวปะทะอากาศ (frontal thunderstorm)

การเกิดของพายุฟ้าคะนอง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุฟ้าคะนองได้แก่

– อากาศมีความชื้นสูง และ

– อากาศไม่มีการทรงตัวหรือไม่มีเสถียรภาพ (instability) หรือ อากาศไม่มีเสถียรภาพแบบมีเงื่อนไข (Conditional Instability)

– มีแรงยกที่ทำให้อากาศลอยตัวขึ้น (Lifting Action) เช่น แรงที่เกิดจากพาความร้อนในแนวดิ่ง แนวปะทะอากาศชนิดใดชนิดหนึ่ง แนวเทือกเขา แนวลมพัดสอบเข้าหากัน

ระยะของการเกิดพายุฟ้าคะนองอาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นดังนี้

ระยะเวลาการเกิดพายุฟ้าคะนองเซลเดี่ยวๆ (Single Cell) โดยแบ่งช่วงตามขั้นตอนการเกิดดังนี้

– ขั้นคิวมูลัส ใช้เวลา 10-15 นาที

– ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ ใช้เวลา 15-30 นาที

– ขั้นสลายตัว ใช้เวลา 30 นาที

พายุฟ้าคะนองกับผลกระทบต่อการบิน

พายุฟ้าคะนองเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีอันตรายอย่างยิ่งต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบินอยู่ในอากาศทั้งในขณะบิน อยู่ในเส้นทางบิน หรือขณะบินขึ้น-ลงสนามบิน เพราะในพายุฟ้าคะนองมีสภาวะอากาศที่เลวร้ายที่สุด มีลมกระโชกรุนแรง มีกระแสอากาศพัดขึ้น-ลงรุนแรงทำให้เครื่องบินที่บินผ่านเข้าไป หรือบินอยู่ใกล้เคียงได้รับความปั่นป่วน กระเทือน รู้สึกถูกกระแทก ทำให้ความสูงของเครื่องบินเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งที่นักบินไม่สามารถรักษาระดับบินไว้ได้เป็นเหตุให้เครื่องบิน ประสบอุบัติเหตุ ตกมาแล้วมากมาย บางครั้งเครื่องบินจะได้รับอันตรายจากลูกเห็บด้วย และมีน้ำแข็งเกาะจับเครื่องบินอย่างรุนแรงด้วย

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเครื่องบินหากเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการบินผ่านเข้าไปในพายุฝนฟ้าคะนอง ในวันหนึ่งๆทั่วโลก มีพายุฝนฟ้าคะนอง เกิดขึ้นประมาณ44,000ครั้ง โดยเฉพาะในเขตร้อนมีเกิดขึ้นแทบทุกวัน ดังนั้นโอกาสที่นักบินแต่ละเที่ยวบิน จะประสบ กับพายุฝนฟ้าคะนองมีสูงมาก ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับพายุฟ้าคะนองและระเบียบปฎิบัติต่างๆในการบินเมื่อพบพายุฟ้าคะนองจะช่วยให้นักบินสามารถผ่านพ้นพายุฟ้าคะนองได้อย่างปลอดภัย

ข้อแนะนำสำหรับนักบินเมื่อต้องเผชิญกับพายุฟ้าคะนอง

1.นักบินที่ทำการบินด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยงพายุฟ้าคะนองทั้งหมด

2.นักบินที่ทำการบินด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงพายุฟ้าคะนองเช่นเดียวกัน เพราะความปลอดภัยของเครื่องบิน ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องบิน

3.ขณะทำการบินรอบๆพายุฟ้าคะนอง ไม่ควรเสี่ยงเข้าไปใกล้บริเวณที่เกิดพายุฟ้าคะนองขั้นเจริญเติบโตเต็มทีใกล้กว่า 5 ไมล์ เพราะอาจประสบกับลูกเห็บที่ถูกกระแสอากาศไหลขึ้นในพายุฟ้า คะนองเหวี่ยงออกมาได้

4.ไม่ควรทำการบินใต้พายุฟ้าคะนองที่เกิดจากลักษณะภูมิประเทศ ถึงแม้ว่า จะมองเห็นอีกด้านหนึ่งของภูเขาก็ตาม เพราะการเกิดพายุฟ้าคะนองชนิดนี้ได้ ลมจะต้องมีกำลังแรงมาก เพื่อให้เกิดแรงยกซึ่งอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนที่เต็มไปด้วย อันตรายระหว่างยอดภูเขาได้ เนื่องจากความปั่นป่วนนี้ได้ผนวกกับกระแสอากาศไหลลง ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นอันตราย ต่อเครื่องบินมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจของนักบินว่า จะเสี่ยงทำการบินในบริเวณที่มีพายุฟ้าคะนองกำลังเกิดขึ้นหรือไม่

1.ประสบการณ์ของนักบินเองในการบินผ่านพายุฟ้าคะนอง

2.ชนิดของเครื่องบินและขีดจำกัดที่จะทนได้

3.ความสูงและสภาพของเมฆพายุฟ้าคะนองที่ปรากฏให้เห็นในจอเรดาร์ของเครื่องบิน ถ้าสูงตั้งแต่ 35,000 ฟุตขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงโดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพอื่นๆ เพราะมีอันตรายรุนแรงที่สุด

ที่มา : กองอุตุนิยมวิทยาการบิน http://www2.aeromet.tmd.go.th/KnowledgeOTS.php