ภาวะโลกเดือดในทุกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศอย่างมาก เห็นได้จากการที่ธารน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย ปะการังตายเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดคลื่นความร้อนในประเทศเมืองหนาว แล้วจะมีแนวทางไหนที่จะรักษาสมดุลและลดการแปรปรวนของสภาพอากาศได้ ซึ่งแนวคิดเรื่องการใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
บางประเทศในเอเชียกำลังเดินหน้าสำรวจพลังงานทดแทนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และหากจะพูดถึงเมืองสีเขียว เมืองตัวอย่างที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียวของภูมิภาคยุโรปในปี ค.ศ. 2019 (European Green Capital 2019) อย่างเช่น กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ได้พัฒนาตนเองให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ
เมื่อออสโลได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียว ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและวางแผนการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากร ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยมีนโยบายอย่าง Climate Budget ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมพลังงานและสภาพอากาศ (Climate and Energy Strategy) ที่สอดคล้องกับ “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 โดยใช้แนวทางการทำงานแบบ “นับคาร์บอนในแบบที่เรานับเงิน” เพื่อปรับใช้กับหน่วยงานรัฐบาลทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยมลพิษ โดยมีมาตรวัดในด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบจากขยะ อาคารบ้านเรือน การคมนาคม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2022 และร้อยละ 95 ภายในปี ค.ศ. 2030 จนกลายเป็นเมืองไร้มลพิษอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2050
ซึ่งนโยบายแรกๆที่ใช้คือการเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคม เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยานพาหนะขนาดใหญ่และเล็กมีมากกว่า 583,682 ตัน หรือคิดเป็น 54% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของเมือง โดยเปลี่ยนผ่านการใช้รถบัสสาธารณะรูปแบบน้ำมันดีเซล ไปสู่การใช้รถบัสสาธารณะไฟฟ้า จำนวน 450 คัน ภายใต้งบประมาณกว่า 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการผลักดันให้ประชาชนเริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยนโยบาย VAT 0% ไม่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในนอร์เวย์ยังได้ สิทธิพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทางด่วนฟรี การให้สิทธิพิเศษสามารถวิ่งในเลนรถบัสได้ ตลอดจนการลดราคาที่จอดรถและจุดชาร์จ เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดทำให้เห็นว่า “พลังงานสะอาด” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเมืองของออสโล ประเทศนอร์เวย์ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะไปจนถึงมาตรการการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าส่วนบุคคล นับเป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันครั้งใหญ่ในเมือง ซึ่งการได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อนแนวคิดนี้อย่างจริงจัง ถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้นด้วยการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรักษาสมดุลและลดการแปรปรวนของสภาพอากาศของโลกได้ในอนาคต