หากขนมปังขึ้นรานิดเดียว เราไม่ควรกินต่อ ต้องทิ้งทันที เพราะ ว่าแม้เราจะฉีกส่วนที่เป็นราออก แต่ในราขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็น
มันได้แผ่ขยาย และสร้างสารพิษแทรกอยู่บนขนมปังแล้ว ถ้าเรากินเข้าปจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ และถ้ากินเข้าไปนานๆ อาจสะสมจนก่อนมะเร็งได้เช่นกัน
ขนมปังที่เราซื้อมาหากเก็บไว้เป็นเวลานาน เราจะพบจุดสีดำบนแผ่นขนมปัง และมีเส้นใยสีขาวฟูๆ รอบๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าจุดสีดำนั้นคือ “ เชื้อรา ”
ปกติแล้ว เชื้อราสามารถอยู่ได้โดยการย่อยสลายและดูดซึมสารอาหารจากแหล่งที่มันไปอาศัยอยู่ เช่น บนขนมปัง
อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อราได้โดยการดูจากสีของมัน เนื่องจากสีของมันสามารถเปลี่ยนไปได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ช่วงชีวิตที่เปลี่ยนไปของเชื้อราสามารถทำให้สีของตัวมันเปลี่ยนได้อีกด้วย
สายพันธุ์ของเชื้อราที่มักจะขึ้นบนขนมปัง ได้แก่ Aspergillus, Penicillium, Fusarium, Mucor และ Rhizopus ขณะที่เชื้อราบางสายพันธุ์สามารถบริโภคได้ อาทิ สายพันธุ์ที่ใช้ผลิต Blue Cheese
หน่วยงานUSDA (United States Department of Agriculture: ที่รับรองด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา) แนะนำว่า ควรทิ้งขนมปังเมื่อพบเห็นเชื้อรา แม้ว่าเราจะเห็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของเชื้อราบนแผ่นขนมปัง แต่เส้นใยพวกนั้นจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามรูของขนมปัง
นอกจากนี้เชื้อราบางชนิดยังสามารถผลิตสารที่เป็นพิษ เรียกว่า mycotoxins ซึ่งพิษนี้อาจจะกระจายไปทั่วทุกส่วนของขนมปังแล้วก็เป็นได้ ถ้าเราได้รับ mycotoxins ในปริมาณมาก จะส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
โดยมันจะไปรบกวนการทำงานของเชื้อประจำถิ่น (Normal flora) ในร่างกายให้ไม่สามารถทำงานได้ นอกจากนี้ mycotoxins ยังออกฤทธิ์ในสัตว์ได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรนำขนมปังขึ้นราไปให้สัตว์กินเด็ดขาด
เราสามารถหลีกเลี่ยงการกินเชื้อราบนขนมปังได้โดย
- ดูวันหมดอายุ บรรจุภัณฑ์เรียบร้อย ไม่มีรอยฉีกขาด
- สังเกตุขนมปังอย่างรอบคอบก่อนทานว่าไม่มีเชื้อรา
- หากรับประทานไม่หมด ควรปิดถุงให้สนิท
- เก็บในที่ไม่โดนแสงแดดหรือในกล่องพลาสติก
- เลี่ยงเก็บในที่มีความชื้นสูง เก็บขนมปังตามที่ระบุวันหมดอายุไว้ที่ข้างบรรจุภัณฑ์
การเก็บขนมปังนั้น ต้องคำนึงถึงอุณหภูมิห้อง ในที่แห้งไม่โดนแสง เช่น ในลิ้นชักหรือกล่องเก็บขนมปังเพราะแสงแดดทำให้ขนมปังแห้ง ขณะที่ความชื้น ก็จะทำให้ขนมปังเกิดรา นอกจากนี้อายุของขนมปังก็ขึ้นอยู่กับประเภทของขนมปัง
ขนมปังที่ใส่สารกันบูด จะเก็บได้ประมาณ 10 วัน ถ้าซื้อที่ร้านเบเกอรี่ที่อบเอง จะเก็บได้ 2-3 วัน
ขนมปังที่มีปริมาณไขมันมาก อย่าง บริโอช หรือขนมปังลูกเกด จะเก็บได้ 3-4 วัน เพราะไขมันจะช่วยเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้
วิธีการยืดอายุขนมปังทำให้อยู่ได้นานขึ้นและกลับมานุ่มน่าทานเหมือนเดิม ตามนี้
- เก็บขนมปังใส่ถุงและปิดปากถุงให้สนิท ช่วยให้เก็บได้นานขึ้น: การเก็บขนมปังใส่ถุงก็มีหลายลักษณะให้ได้เลือกนำไปใช้ ได้เเก่ (1) เก็บใส่ถุงโดยมัดหนังยางเพื่อป้องกันการเลอะเทอะของอาหาร (2) เก็บใส่ถุงที่มีซิปล็อค (3) เก็บใส่ถุงโดยใช้น้ำอุ่นไล่อากาศ
- นำขนมปังใส่ถุงซิปล็อค และแช่ช่องฟรีซ ทำให้ขนมปังเก็บได้นานถึง1-2เดือน (คุณภาพขนมปังจะลดลงตามเวลา)
- ไม่ควรเปิดถุงทิ้งไว้ เพราะฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรียอาจเข้าไปในถุงได้
- ไม่ควรวางขนมปังตากลมหรือตากแดด เพราะจะทำให้ขนมปังแห้งและแข็งเร็วขึ้น
- ไม่ควรวางขนมปังใกล้สารเคมี เพราะจะทำให้ขนมปังดูดซับกลิ่นสารเคมีเข้าไป
- พรมน้ำเล็กน้อยช่วยให้ขนมปังหายแห้งและแข็ง: เราสามารถทำให้ขนมปังที่แห้งและแข็งนั้นนุ่มลงได้โดยการพรมน้ำและนำไปเข้าไมโครเวฟ 5-10 วินาที จะทำให้ขนมปังนิ่มขึ้น