วันอนุรักษ์แรดโลก (WORLD RHINO DAY) ประกาศขึ้นในปี 2010 โดย WWF-South Africa เพื่อสร้างความตระหนักให้คนหันมาอนุรักษ์แรดแทนการล่า และร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองให้คนได้เห็นถึงความสำคัญของแรดที่ยังเหลืออยู่บนโลก โดยแรดในโลกมีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่ แรดสุมาตรา แรดชวา แรดดำ แรดขาว และแรดอินเดีย
แรดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง โดยแรดสายพันธุ์เล็กสุดมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 600 กิโลกรัม ส่วนสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักมากถึง 3,500 กิโลกรัม และสูงได้ถึง 6 ฟุต แรดเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี ทำให้แรดมักจะใช้การดมกลิ่นเป็นหลัก และสื่อสารกันผ่านเสียง เช่น แรดดำเมื่อโกรธจะหายใจแรง ๆ และใช้การจามเป็นสัญญาณเตือน หรือกรีดร้องเมื่อรู้สึกกลัว นอกจากนี้แรดยังมีนิสัยชอบไปคลุกกับโคลน เพื่อป้องกันพวกแมลงและปรสิตที่มาสร้างความรำคาญ และยังช่วยให้คลายร้อนได้อีกด้วย
ในประเทศไทยแรดเป็น “สัตว์ป่าสงวน” ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากผืนป่าธรรมชาติของประเทศไทย ทั้งยังถูกบรรจุไว้ในบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN Red List 2019) การล่าแรดเกิดขึ้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่า “นอแรด” เป็นยาแผนโบราณชั้นดีในการรักษาโรคภัยต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง และอาการเมาค้าง แถมมีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่านอแรดเป็นยาเสริมสมรรถภาพเพศ ทำให้ภัยคุกคามจากการล่านอแรดโดยฝีมือมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย
ประชากรแรดป่าทุกสายพันธุ์ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต โดยสายพันธุ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ใกล้ขอบเขตของการสูญพันธุ์มากที่สุดคือแรดชวา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในป่าของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าแรดชวาตัวสุดท้ายในบริเวณนี้ถูกสังหารไปเมื่อปี 2010 ที่เวียดนาม
ในปัจจุบันแรดชวามีหลงเหลืออยู่แค่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวา อินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แรดชวาไม่มีอยู่ในสวนสัตว์ และถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบได้ยากที่สุดในโลก นอกจากนี้แรดสุมาตราหรือกระซู่ ที่มีลักษณะคล้ายแรดชวาก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่พอกัน และกระซู่จัดเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในประเทศไทยแล้ว
ที่มา: สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand
ภาพ :เพจ สวนสัตว์เขาเขียว