กรมควบคุมโรค แนะประชาชนหากถูกสุนัขกัด ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบทุกเข็ม เผยปีนี้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2566 พบผู้เสียชีวิต 3 ราย เหตุจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในบางรายเคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำหลังถูกสุนัขกัด
วันนี้ (8 มิถุนายน 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า จากการเฝ้าระวังโรคในระบบรายงานเฝ้าระวัง 506 โดยกองระบาดวิทยาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 พฤษภาคม 2566 มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย (จังหวัดชลบุรี ระยอง และสุรินทร์) และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยา ได้รับแจ้งจากสำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก พบผู้ป่วยเพศชาย อายุ 28 ปี สัญชาติเมียนมา สงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เข้ารับการรักษาที่คลินิกเอกชน ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 แพทย์ผู้รับผิดชอบได้เก็บน้ำลายและปมรากผมส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ผลบวกเชื้อพิษสุนัขบ้า ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตวันที่ 3 พฤษภาคม 2566
จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัดที่ขาขณะอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาช่วงกลางเดือนมีนาคม 2566 และเนื่องจากการสัมผัสโรคเกิดขึ้นในต่างประเทศจึงไม่นับเป็นผู้ป่วย/ตาย ด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชายแดนเฝ้าระวังและติดตามผู้สัมผัสสุนัขตัวดังกล่าวที่ประเทศเมียนมา รวมถึงแจ้งเตือนผู้สัมผัสสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้าตัวอื่นๆ ในพื้นที่ดังกล่าวให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และเฝ้าระวังโรคในสัตว์ไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะสุนัขและแมวในพื้นที่ซึ่งอาจได้รับเชื้อจากสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
“โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปีหากในพื้นที่นั้นๆ มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน หรือสัตว์ตัวอื่นต่อไป โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว และพบบ้างในโคกระบือ เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางแผลหรือเยื่อเมือกอ่อน
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะพบอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน อาการระยะแรกจะมีไข้ อาจพบอาการคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด แสบ ร้อน แล้วลามไปส่วนอื่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมาอาจมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ไวต่อสิ่งกระตุ้น เสียการทรงตัว พูดจาเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก ชักเกร็ง อาจพบอาการกลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ ซึ่งเรียกว่า Furious form พบประมาณร้อยละ 80 ส่วนอาการที่พบในอีกรูปแบบหนึ่ง ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย คือ อาการอัมพาต (Paralytic form) โดยอาการอัมพาตกล้ามเนื้อจะเริ่มจากข้างที่ถูกกัด ก่อนที่จะลุกลามไปยังแขนขาทั้ง 4 และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่สามารถป้องกันได้โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือได้รับครั้งล่าสุดเกิน 1 ปี หรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด หรือสัตว์ที่เคยได้รับวัคซีนแต่มีอาการป่วย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นรักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อ กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่ง ซากสัตว์สงสัยที่เพิ่งตายตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนหลังสัมผัสโรคที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มา : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=34650&deptcode= กรมควบคุมโรค
Image by wirestock on Freepik