กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่
สังเกตอาการเบื้องต้น ถ้ามี ไข้ เจ็บคอ หรือมีตุ่มหนองที่ผิวหนัง ร่วมกับมีผื่นคล้ายกระดาษทราย ให้รีบพบแพทย์
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ตามที่มีข่าวกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่น เร่งหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ซึ่งคาดว่าอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 นั้น กรมได้ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคที่เรียชื่อเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี ปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมากเนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ คืออะไร
เชื้อแบคทีเรีย เสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) เป็นเชื้อก่อโรคสำคัญของคอหอยอักเสบ เชื้อนี้ สามารถสร้างสารพิษเรียกว่า อิริโทรเจนิกท๊อกซิน (Erythrogenic toxin) ซึ่งเป็นทำให้เกิดผื่นในไข้อีดำอีแดง โรคอื่นๆที่เกิดจากการติดเชื้อนี้ได้แก่ โรคติดเชื้อผิวหนัง โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น
ติดต่อได้อย่างไร
เชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ในน้ำลาย เสมหะหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก สามารถติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอา ละอองฝอยของเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดหรือติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงผ่านทางมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
อาการเป็นอย่างไร
แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อยพลีย ปวดเมื่อยตามตัวและเจ็บคอ อาจพบ
ตุ่มสีแดงที่ลิ้น คล้ายผลสตรอเบอรี่ ทอนซิลก็จะบวมแดงและมีหนอง อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโต หลังจากมีไข้ 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีผื่นเป็นอาการแรกก็ได้ ผื่นจะมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบๆเมื่อลูบจะรู้สึกสากๆคล้ายกระดาษทราย มักจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่อาจจะพบในลักษณะที่แก้มแดงและรอบปากซีด อาจจะมีอาการคันบริเวณผื่นได้ ต่อมาผื่นจะมีสีเข้มขึ้นบริเวณรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ข้อพับแขน เรียกว่า เส้นพาสเตีย (Pastia’ s line) หลังจากผื่นขึ้น 3-4 วันจะเริ่มจางหายไป หลังจากผื่นจางได้ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกเป็นแผ่นของผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้า ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุยๆ อาการผิวลอกนี้บางรายอาจจะพบติดต่อกันได้นานเป็นเดือน
อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ
ได้แก่ โรคไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันซึ่งมักเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ (เกิดจากปฏิกิริยาของแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย)
วินิจฉัยได้อย่างไร
โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติและอาการแสดงของโรคเป็นหลัก การส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่ การเพาะเชื้อจากคอหอยผู้ป่วยซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 วันหรือการตรวจหาเชื้อจากคอหอยโดยวิธี rapid strep test ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงแต่สามารถส่งตรวจได้บางโรงพยาบาลเท่านั้น
การรักษาทำอย่างไร
รักษาที่ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลิน(Penicillin) อะมอกซิซิลิน (Amoxycillin) หรืออิริโทรมัยสิน (Erythromycin) เป็นเวลา 10 วัน และแม้อาการจะหายไปภายใน 3-4 วันก็ต้องรับประทานยาต่อไปจนครบ 10 วันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน
ให้การรักษาตามอาการอื่นๆที่ตรวจพบ แนะนำให้นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ
ควรกลับมาพบแพทย์เมื่อได้รับการรักษาแล้วกลับเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ มีไข้ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ปวดข้อ หรือตุ่มหรือก้อนที่ใต้ผิวหนัง หรือมีอาการบวม ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือเลือดปน เป็นต้น
ระยะเวลาการติดต่อและควรหยุดโรงเรียนนานแค่ไหน
ควรให้หยุดเรียนหรือแยกตัวออกจากผู้อื่นจนกว่าได้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
การป้องกันทำได้อย่างไร
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ การป้องกันการติดเชื้อจึงสามารถทำได้โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดัวยการรับประทานอาหารที่ประโยชน์ครบ 5 หมู่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาร่วมกับล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย
อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนวตัว เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
#โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส #ญี่ปุ่น #ไข้อีดำอีแดง #สาระดีสตอรี่ #saradeestory
ทีมา : https://www.pidst.or.th/A708.html
https://ddc.moph.go.th/uploads/files/4168520240319035902.pdf