กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเตือน โลกเดือด อากาศร้อน ระวัง Heat Stroke
ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเราอยู่ในยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูร้อน จากการคาดหมายอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงนี้เดือนเมษายนสภาพอากาศ มีอากาศร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุดคือ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสิ่งที่จะขึ้นตามมาเมื่ออากาศร้อนจัดคือ “Heat Stroke หรือโรคลมแดด” ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิต ฮีทสโตรก โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนหรืออยู่กลางแจ้งมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ อาจจะมีภาวะชัก หรือว่าการหมดสติจากการที่หัวใจเราเต้นผิดจังหวะ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด
- ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศา
- ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก
- หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง
- ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
- อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคลมแดด
- อุณหภูมิที่สูง อากาศร้อน
- ความชื้น ความชื้นที่สูงทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้
- ภาวะแรงลม ถ้าไม่มีลม ก็ไม่สามารถพัดพา หรือระบายความร้อนได้
กลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดด
- กลุ่มที่ต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง นักวิ่งมาราธอน
- คนสูงอายุ กลุ่มเด็ก จะมีการสูญเสียความร้อนได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นปกติ
- คนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ยาโรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้มากขึ้น
การปฐมพยาบาล
- การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีทสโตรก อย่างแรกคือ ต้องดูว่ามีภาวะไม่ความรู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าไม่รู้สึกตัว หรือมีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
- กลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวปกติดีอยู่ ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ถ้ามีพัดลมสามารถเปิดพัดลมได้ เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
การป้องกัน
- การดูแลตัวเองในหน้าร้อน คืออย่าไปอยู่กลางแจ้งให้นานเกินไป ถ้ามีร่มก็สามารถใช้ร่มได้ ดื่มน้ำให้มาก ๆ ทานน้ำแข็ง ทานไอศกรีม
- ถ้าอยู่ในบ้าน พยายามเปิดประตู หน้าต่าง อย่าอยู่ในที่อับ อย่าอยู่ในห้องปิด การอยู่ในห้องปิดจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แล้วเกิดความร้อนสะสม ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แม้อยู่ในบ้าน
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่าออกไปอยู่กลางแดดนานเกินไป ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง แนะนำว่าเราต้องหาเวลาเข้ามาอยู่ในที่ร่มบ้าง ถ้าเราอยู่กลางแดดนาน ๆ ก็จะเกิดฮีทสโตรกได้
ข้อควรระวังคือ อย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ เตรียมน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจจะต้องเยอะกว่าในฤดูอื่น
#โลกเดือด #โลกร้อน #Heat Stroke #สาระดีสตอรี่ #saradeestory
ที่มา :
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,กรมอุตุนิยมวิทยา
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/dcceth กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม