ข้าวโอ๊ตกับประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวัง

ข้าวโอ๊ต เป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารและโปรตีน และมีสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น แมงกานีส ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม วิตามินอี วิตามินบี 1 เป็นต้น เชื่อกันว่าสารเหล่านี้ดีต่อสุขภาพและอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ นอกจากนี้ข้าวโอ๊ตยังทำให้อิ่มนาน

ประโยชน์ต่างๆของข้าวโอ๊ต

1.รำข้าวโอ๊ตหรือข้าวโอ๊ตแบบเต็มเมล็ดช่วยรลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง อาการปวดข้อ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง กรดยูริกในเลือดสูง ภาวะเครียด โรคทางผิวหนัง รวมทั้งโรคในระบบทางเดินอาหารอย่างโรคลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ หรือท้องผูก

2.ฟางข้าวโอ๊ตนำมาใช้บรรเทาอาการของโรคหวัด โรคไข้หวัดหมู อาการไอ ปวดข้อ โรคทางดวงตา โรคเก๊าท์ กลุ่มโรคระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ (Connective Tissue Disorder) แผลพุพอง อาการฟรอสไบท์ (Frostbite) ที่เกิดจากร่างกายได้รับความเย็นจัดจนเนื้อเยื่อเสียหาย  

3.ข้าวโอ๊ต บางประเภทใช้เป็นยาทารักษาผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น อาการคัน ผิวแห้ง ตกสะเก็ด ผิวมัน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โรคอีสุกอีใส โรคข้อเสื่อม อาการเท้าเย็นเรื้อรังหรือปวดเมื่อยเท้า เป็นต้น

ข้อมูลโภชนาการของข้าวโอ๊ตดิบ 100 กรัม โดยประมาณ

Image by Freepik

มีข้อมูลจากประโยชน์ของข้าวโอ๊ตที่ระบุจากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ว่าประสิทธิภาพจากการใช้ข้าวโอ๊ตรักษาโรคต่าง ๆ ตามตัวอย่างงานวิจัยในระดับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การรักษาที่น่าจะได้ผล (Likely Effective)

ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ 

เชื่อว่าเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำที่ชื่อว่าเบต้า กลูแคน (Beta Glucan) ในข้าวโอ๊ตหรือรำข้าวโอ๊ตมีส่วนช่วยลดการสร้างและชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย 

ได้มีการทดลองให้อาสาสมัครชายหญิงที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 19 คน รับประทานข้าวโอ๊ต ที่มีปริมาณเบต้า กลูแคน 2.9 กรัม วันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และเว้นช่วงอีก 3 สัปดาห์ จึงค่อยให้รับประทานสารมอลโตเดกซ์ตริน (Maltodextrin) ซึ่งมีลักษณะคล้ายแป้ง ในระยะเวลาเท่ากัน เพื่อเปรียบเทียบผล ซึ่งทั้ง 2 อย่างที่อาสาสมัครรับประทานนั้นเทียบเท่ากับการรับประทานรำข้าวโอ๊ตวันละ 70 กรัม

ผลจากการทดสอบดังกล่าวพบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่รับประทานข้าวโอ๊ต โดยระดับคอเลสเตอรอลทั้ง 2 ชนิดลดลงเรื่อย ๆ จนในสัปดาห์ที่ 4 ค่าระดับคอเลสเตอรอลลดลงประมาณ 9% แต่ในช่วงที่รับประทานสารคล้ายแป้งไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอลอย่างเห็นได้ชัด 

จะเห็นว่าการรับประทานข้าวโอ๊ตที่มีเบต้า กลูแคนน่าจะช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง แต่อาจไม่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี   ข้าวโอ๊ตอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าอะวีแนนตรามายด์ (Avenanthramides)  ซึ่งช่วยต้านภาวะอักเสบในหลอดเลือดและควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ 

ข้อมูลมาจากการทดลองให้อาสาสมัครชายหญิงที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงในระดับปานกลางกลุ่มหนึ่งรับประทานข้าวโอ๊ตสำเร็จรูป 100 กรัม และอีกกลุ่มรับประทานบะหมี่ที่ทำจากแป้งสาลี ระยะเวลา 6 สัปดาห์ ปรากฏว่ากลุ่มที่รับประทานข้าวโอ๊ตมีระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และรอบเอวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อีกทั้งมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีลดลงน้อยกว่า แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือด สัดส่วนของร่างกาย หรือผลด้านอื่นอย่างเห็นได้ชัดนัก 

กล่าวได้ว่าการรับประทานข้าวโอ๊ตสำเร็จรูปเป็นประจำอย่างน้อย 6 สัปดาห์ อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันสูงไม่รุนแรง ดังนั้นจึงแนะนำให้เพิ่มการรับประทานธัญพืชและข้าวโอ๊ตในมื้ออาหารให้มากขึ้น  

การรักษาที่อาจได้ผล (Possibly Effective)

ลดระดับน้ำตาลในเลือด 

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่มีกากใยอาหารปริมาณมาก โดยเฉพาะกากใยเบต้ากลูแคน อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน

มีการศึกษาขนาดเล็กเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเบต้ากลูแคนต่อระดับน้ำตาลหลังอาหารและการดูดซึมน้ำตาลในร่างกายของอาสาสมัครที่มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 12 คน 

โดยกลุ่มอาสาสมัครรับประทานอาหารปกติและอาหารที่เติมเบต้ากลูแคนลงไป 5 กรัม 

จากนั้นในอีก 6 ชั่วโมงถัดมาจึงตรวจน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร พบว่าอาหารที่เติมเบต้ากลูแคนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยลดการสร้างน้ำตาลของร่างกายและชะลออัตราการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด

ดังนั้น จึงคาดกันว่าการรับประทานข้าวโอ๊ตน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน

โรคหรืออาการทางผิวหนัง 

เชื่อกันว่าข้าวโอ๊ตมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาทารักษาอาการทางผิวหนังตั้งแต่อดีต เช่น ผื่นผิวหนัง ผิวหนังไหม้ อาการคัน รอยแดง เป็นต้น 

โดยในทางการแพทย์เรียกข้าวโอ๊ตชนิดนี้ว่า Colloidal Oats ซึ่งเป็นข้าวโอ๊ตคนละชนิดกับที่นำมารับประทาน

จากการทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดจากข้าวโอ๊ตชนิด Colloidal Oats ในรูปแบบโลชั่นทาผิว 4 ชนิดกับผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่มีอาการคันบริเวณผิวหนังระดับเบาถึงปานกลาง และมีผิวแห้งอย่างรุนแรงบริเวณน่องขาทั้ง 2 ข้าง จำนวน 29 คน 

ผลพบว่าอาสาสมัครมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากภาวะผิวแห้งกร้าน ผิวตกสะเก็ด ผิวไม่เรียบเนียน และผิวที่มีอาการคันรุนแรง

ซึ่งการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าข้าวโอ๊ตชนิด Colloidal Oats มีฤทธิ์ลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะกลุ่มการศึกษามีขนาดเล็ก

ความปลอดภัยในการรับประทานข้าวโอ๊ตหรือการใช้ผลิตภัณฑ์จากข้าวโอ๊ต

การรับประทานรำข้าวโอ๊ตค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีแก๊สในท้องมาก ท้องอืด และรู้สึกแน่นท้อง  ดังนั้น ในช่วงแรกควรลองรับประทานแต่น้อยและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ส่วนการใช้ข้าวโอ๊ตหรือผลิตภัณฑ์จากข้าวโอ๊ตกับผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนได้ในบางราย 

บุคคลที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวโอ๊ตหรือผลิตภัณฑ์จากข้าวโอ๊ต

  1. ผู้ที่กลืนหรือเคี้ยวอาหารลำบาก เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง ผู้ที่ไม่มีฟันบางซี่หรือฟันปลอมสวมได้ไม่พอดีกับช่องปาก เป็นต้น เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลำไส้อุดตันจากการเคี้ยวได้ไม่ละเอียด
  2. ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบย่อยอาหารและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ อาจต้องใช้เวลาย่อยข้าวโอ๊ตนานกว่าปกติและเกิดการอุดตันในลำไส้ตามมา
  3. ผู้ที่มีอาการแพ้อะวีนิน (Avenin) คือโปรตีนชนิดหนึ่งในข้าวโอ๊ตที่คล้ายกับกลูเตนในข้าวสาลี อาการแพ้ เช่น ระคายเคืองในปากและลำคอ คันตา ในกรณีที่แพ้รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ หากมีอาการแพ้ข้าวสาลีหรือธัญพืชชนิดต่าง ๆ ควรเลือกซื้อข้าวโอ๊ตชนิดที่ระบุว่าเป็นข้าวโอ๊ต 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจือปนกับธัญพืชชนิดอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้

ที่มา : www.pobpad.com