ภาวะหมดสติจากหัวใจหยุดทำงานกระทันหัน ช่วยถูกวิธี มีโอกาสรอด

ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) หมายถึงการที่มีอาการของโรคหัวใจที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และสาเหตุอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติชนิดตีบหรือรั่วรุนแรง จนมีอาการหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากอาการเป็นรุนแรงส่งผลทำให้เกิดภาวะหยุดทำงานกระทันหัน (Cardiac Arrest)  หัวใจไม่สามารถบีบตัวสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ ทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงและสมองขาดออกซิเจนจนหมดสติและเสียชีวิตได้  ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง  ไขมันสูง  เบาหวาน ผู้สูบบุหรี่เรื้อรัง ผู้มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจช่วงนอน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน นักกีฬาที่มีโรคหัวใจแฝงและออกกำลังกายหนัก และผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ   

หากพบผู้หมดสติ ไม่รู้สึกตัวจากหัวใจหยุดทำงานกระทันหัน ไม่มีการตอบสนอง กระตุกชักเกร็ง หายใจเฮือกหรือหยุดหายใจ สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นดังนี้ 

1.ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง 2.โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 

3.ทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการกดนวดหัวใจ(CPR) 

4.เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง 

5.กรณีมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) ให้ทำตามคำแนะนำของเครื่อง การกดนวดหัวใจเป็นการทำเพื่อให้มีการไหลเวียนของเลือด การผายปอดเป็นการช่วยเติมออกซิเจนให้ร่างกายผู้ป่วย หากผู้ป่วยยังมีหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติจึงมีความสำคัญ 

หลักการการทำงานของเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ คือการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นปกติอีกครั้ง โดยในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัวแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจอย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติร่วมด้วย จะทำให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า

ที่มาข้อมูล

กรมการแพทย์

สถาบันโรคทรวงอก

ccit.go.th