โรคน้ำเหลืองเสีย ไม่มีอยู่จริง

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน “โรคน้ำเหลืองเสีย” หรืออาการผื่นแดง คัน ผื่นแฉะ อาจบวมแดงและมีน้ำเหลืองไหลและมีสะเก็ดสีเหลืองปนน้ำตาล พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำวิธีดูแลรักษาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้ลุกลามหรือเป็นรุนแรงมากขึ้น 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “โรคน้ำเหลืองเสีย” หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Impetigo โรคน้ำเหลืองเสีย เป็นเพียงภาษาชาวบ้านที่ใช้เรียก 

จริงๆแล้ว โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผลที่เกิดจากรอยถลอกหรือการแกะเกา บริเวณที่เป็นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน ผื่นแฉะ อาจบวมแดงและมีน้ำเหลืองไหล ร่วมกับมีสะเก็ดสีเหลืองปนน้ำตาลได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดการลุกลาม และทำให้หายช้าได้

แพทย์หญิงคล้ายจันทร์ อินทรใจเอื้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรักษาโรคขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรง โดยมีทั้งการใช้สบู่ฟอกเพื่อฆ่าเชื้อ การให้ยาทา รวมถึงการใช้ยากินหรือยาฉีดในกรณีที่มีอาการรุนแรง ฉะนั้นผู้ที่มีอาการของโรคควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม 

นอกจากนี่เราสามารถทำการป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังสามารถทำได้ดังนี้

1.อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวันเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เกาะอยู่ตามผิวหนัง ลดโอกาสติดเชื้อ และควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

2.ล้างทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยสบู่อ่อน ๆ และเปิดน้ำไหลผ่านแผล จากนั้นปิดด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และป้องกันแผลสัมผัสอากาศ

3.ซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัวของผู้ติดเชื้อทุกวันด้วยน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจเกาะอยู่ตามเสื้อผ้าและของใช้

4.ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรค และป้องกันการบาดเจ็บที่แผลหากใช้มือเกาแผล

5.ไม่ควรแกะหรือเกาที่แผลเพราะอาจทำให้แผลอักเสบและหายช้ากว่าเดิม

6.สวมถุงมือทุกครั้งก่อนทายาปฏิชีวนะที่แผล และล้างมือให้สะอาดหลังจากทายาเสร็จ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม และควรใช้ยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด

7.หากผิวหนังสัมผัสสิ่งสกปรกควรรีบล้างทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้น และไม่แกะเกาบริเวณรอยโรคหรือตำแหน่งที่เป็นผื่น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังและการลุกลามของรอยโรคด้วย ในส่วนของอาหารการกินต่างๆ ไม่ได้มีผลต่อตัวโรคผิวหนังชนิดนี้แต่อย่างใด

ที่มา :  เพจเฟสบุคกรมการแพทย์

https://l.facebook.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fwww.dms.go.th%2F%3Ffbclid%3DIwAR0eKZcJa0MfOoQ8f_un0pkWXYxyKuisbR-7TyKooeXHKIj0MbE-4dDeZQc&h=AT2hrnQ00rWzz_Fz2n2GymQg6MwKu6s2HoTy0iMHWPLbIEQYbuJZHT-lfjTVdPwDPTG-wwQFakj2TA3ID6VXMRK9mp8a-bcUg7lOFGBap0wtnlub7WnXGIvln4X_kVRKZ9MUTQ

Image by pch.vector on Freepik