11 ธันวาคม 2566 เพจเฟสบุค นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ได้เผยแพร่บทความรอบเดือนสตรีมีผลต่อสมอง ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ฮอร์โมนมีผลหรืออิทธิพลโยงใยไปกับการทำงานของสมอง
ทั้งนี้ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือใน สตรี โดยที่พบความเกี่ยวข้องเมื่อหมดระดู ดูเหมือนว่าจะมีความสุ่มเสี่ยงในการเกิดสมองเสื่อมโดยเฉพาะแบบอัลไซเมอร์ได้สูงขึ้น
การศึกษาก่อนหน้าที่ผ่านมานั้นในสัตว์ทดลอง พบว่าฮอร์โมนเพศมีความเกี่ยวพันกับสมอง Cornu ammonis (CA1) และเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ อัลไซเมอร์ ในระบบทางด้านความจำ บูรณาการ และการให้ ฮอร์โมน estradiol จะช่วยทำให้มีการเชื่อมโยงของเส้นไยประสาทในสมองส่วนนี้ดีขึ้น ในสัตว์ทดลองที่ตัดรังไข่ ในขณะที่ฮอร์โมน progesterone จะยับยั้งผลนี้ การศึกษาในสัตว์ทดลองยังได้พิสูจน์ไปจนถึงสัตว์ในตระกูลลิงตั้งแต่อายุน้อยถึงอายุกลาง
สมองอีกตำแหน่งที่มีการศึกษาไม่มาก แต่มีการเหี่ยวในระยะเริ่มต้นของสมองสมองเสื่อม คือ perirhinal area 35 ซึ่งเป็น trans-entorhinal region และ medial perirhinal cortex
อย่างไรก็ตามในขณะที่ยังมีประจำเดือนอยู่นั้น ตั้งแต่ ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนขึ้นลง (hormonal oscillations) ในช่วงเดือนอยู่ตลอด โดยเฉพาะฮอร์โมน estradiol และ progesterone
จุดประเด็นนี้เองที่เป็นที่มาในความสนใจ ความเชื่อมโยงระหว่างความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนขึ้นๆลงๆว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมองหรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงทางด้านจิตอารมณ์ ภาวะหดหู่ ซึมเศร้าและสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ลี้ลับพอสมควร
โดยที่มีการศึกษาและมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสมองในด้านประสิทธิภาพในการจดจ่อเรียนรู้ จดจำน้อยมาก โดยมีเพียง 0.5% ที่มีการตีพิมพ์โดยมีการประมวล วิเคราะห์ ภาพคอมพิวเตอร์สมองมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้
รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Mental Health ในวันที่ 5 ตุลาคม 2023 จาก Mark Planck Institute for human cognitive and brain sciences และ the University Clinic in Leipzig เยอรมนี
การศึกษานี้ มีสตรีอาสาสมัคร 27 คนใน หกจุดเวลาของรอบประจำเดือน (mens pre- และ Ovulation post O Mid-L และ Pre-M)
การระบุรอบและกรอบช่วงเวลาต่างๆของประจำเดือนนั้น ใช้อัลตร้าซาวนด์ เพื่อดู การเติบโตของ follicle ในรังไข่ ในการบอกเวลาตกไข่ และทำการตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์แม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังสนามแม่เหล็กสูงถึง 7 เทสล่า โดยวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทาง พุทธิปัญญาและความจำโดยเฉพาะส่วนที่เป็นความจำปัจจุบัน (episodic memory) ที่ถูกกระทบในระยะแรกเริ่มของสมองเสื่อม
โดยที่เครื่องที่เราใช้ในผู้ป่วยตามปกตินั้นจะอยู่ที่ 3 เทสล่า และพลังระดับเจ็ดนี้ เป็นมาตรฐานในการศึกษา cognitive และ Behavioral Neuroscience
ในแต่ละเดือนของสตรีนั้น ฮอร์โมน estradiol จะขึ้นสูงในครึ่งแรกและสูงสุดในขณะที่ไข่ตกและฮอร์โมน progesterone จะอยู่ในครึ่งหลัง โดยทำหน้าที่เตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และยังมีผลในการทำให้สงบ มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวล และหลับได้สบายขึ้น
ทั้งหมดนี้คล้ายกับคลื่นน้ำที่มีการสลับสับเปลี่ยนอยู่ตลอดโดยสมองในสตรีนั้นจะมีความเชื่อมโยงกับจังหวะของฮอร์โมนเหล่านี้
โดยที่ผลของการศึกษานี้พบว่า สมองกลีบขมับทางด้านใน ที่ควบคุมความจำปัจจุบัน (episodic memory )รวมทั้งการเรียนรู้และจดจำ สถานที่ ทิศทางตำแหน่ง การหาทิศทาง (spatial cognition: landmarks route และ survey knowledge) มีการขยายตัวขึ้นตามจังหวะของestradiol และลดลงในช่วง progesterone
ตำแหน่งของสมองที่ศึกษานี้เป็นตำแหน่งย่อยของสมองกลีบขมับทางด้านในและส่วนจำเพาะที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนดังกล่าว ได้แก่
Estradiol สัมพันธ์กับ ปริมาตรของ parahippocampal cortex และ progesterone สัมพันธ์กับปริมาตรของ subiculum และ perirhinal area 35 และในส่วนของ CA1 จะเชื่อมโยงกันทั้งฮอร์โมนทั้งสองตัว
ความสำคัญของรายงานนี้ชี้ชัดว่า ฮอร์โมนเพศมีความสัมพันธ์ลึกล้ำกับส่วนจำเพาะของสมอง ซึ่งในการศึกษานี้ แม้ว่าจะเจาะจงในตำแหน่งของสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและทิศทาง ก็ตาม แต่จะเป็นพิมพ์เขียวเพื่อ การศึกษาต่อในอนาคตเพื่อทำให้สามารถเชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ
และที่สำคัญก็คือความยืดหยุ่นของสมอง (resilience) เพื่อให้คงประสิทธิภาพและมีความต้านทาน (resistance) ต่อปัจจัยไม่ดีต่างๆ ทั้งนี้น่าจะรวมถึงการใช้ฮอร์โมนในรูปต่างๆ และยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทนว่าจะมีผลอย่างไรกับการทำงานของสมองอารมณ์และจิตใจบ้างหรือไม่
ที่มา : https://www.facebook.com/thiravat.h