เพจเฟสบุค กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยแพร่บทความ Net-Zero Transition” ไต้หวัน สูตรสำเร็จด้วยการมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 09 พ.ย.66
Net Zero’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะ ‘สมดุล’ กับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก
ทั่วโลกกำลังเดินหน้านโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเริ่มมีหลายประเทศแล้วที่ประสบความสำเร็จ วันนี้มีตัวอย่าง ความสำเร็จจากไต้หวันมาให้ศึกษากัน ด้วยนโยบายที่เป็นรูปธรรมและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน
โดย ปี 2564 ไต้หวันได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภาย
ในปี ค.ศ.2050 หรือ “2050 Net-Zero Transition” ซึ่งมีนโยบายที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน ใน 4 มิติ คือ พลังงาน อุตสาหกรรม วิถีชีวิต และสังคม
โดยใช้ 12 ยุทธศาสตร์ คือ
1) พลังงานลมและแสงอาทิตย์
2) พลังงานไฮโดรเจน
3) นวัตกรรมพลังงานทางเลือกอื่น ๆ
4) ระบบการบริหารจัดการและ กักเก็บพลังงาน
5) การประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ
6) การใช้เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization & Storage (CCUS)
7) การใช้รถยนต์ไฟฟ้า
8) การรีไซเคิลและ Zero Waste
9) การพัฒนาแหล่งธรรมชาติเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์
10) ไลฟ์สไตล์สีเขียว
11) ระบบการเงินสีเขียว
12) ระบบการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)
นโยบาย 2050 Net-Zero Transition ใช้รูปแบบ Whole-of-Society Approach หรือการดำเนินการที่อาศัยการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนในสังคมแม้แต่ภาคเอกชน ทั้งนี้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดต้องใช้เงินทุนมหาศาล จึงต้องอาศัยการลงทุน จากต่างชาติ ความสำเร็จของนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านพลังงานลม และพลังงาน แสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ไต้หวันกลายเป็นสนามการลงทุนด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
ประชาชนไต้หวันก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างเรื่องการแยกขยะที่ทุกคนมีความรู้พื้นฐานกันดี ทุกคนจะนำขยะที่แยกแล้ว มาทิ้งเองตามตารางเวลาที่รถขยะมารับโดยใช้ถุงขยะของทางการเท่านั้น เพื่อสะดวกในการทำลาย และยังมีกฏหมายห้ามทิ้งขยะใน จุดต่างๆ อีกด้วย ความสำเร็จนี้ทำให้ไม่สามารถเรียกไต้หวันว่า “เกาะขยะ” อีกต่อไป น่าจะต้องเปลี่ยนมาเรียกว่า “เกาะแห่งจักรยาน” แทน เพราะไต้หวันสนใจเรื่องพลังงานทดแทน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยาน และใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าแทนจักรยานยนต์แบบดั้งเดิม
โดยไต้หวันประกาศลงทุนมูลค่า 191.5 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ และตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2040 รถยนต์และรถจักรยานยนต์ใหม่ ที่วาง จำหน่ายในท้องตลาดจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
ไต้หวันให้ความสำคัญกับแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีความโดดเด่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาลงทุนผลิตโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในไต้หวันได้ รวมถึงการนำ ความสำเร็จด้านนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไต้หวันมาศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ และที่สำคัญไม่ว่าจะออกนโยบายใดๆ ถ้าทุก ภาคส่วนร่วมใจปฏิบัติตาม ประเทศไทยก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างจากไต้หวันเช่นกัน
ที่มา : https://www.facebook.com/dcceth