วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนวัดราชสิงขร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร เปิดงานโครงการนำร่องนโยบายผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 โรงเรียนในเขตบางคอแหลม ประกอบด้วย โรงเรียนวัดราชสิงขร โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม โรงเรียนวัดลาดบัวขาว โรงเรียนวัดจันทร์ใน โรงเรียนวัดจันทร์นอก โรงเรียนวัดไทร และโรงเรียนวัดบางโคล่นอก
โดยโครงการนำร่องครั้งแรกที่โรงเรียนวัดราชสิงขร ซึ่งเป็นสังกัด กทม. โรงเรียนเดียวในเขตบางคอแหลมที่มีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนราว 1,100 คน นักเรียนหญิงที่ร่วมโครงการประมาณ 200 คน อยู่ระหว่างชั้น ป.4-ม.3 ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้งบประมาณของทางโรงเรียนในการจัดซื้อผ้าอนามัยให้เด็ก
นายศานนท์ กล่าวว่า นโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีของกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ช่วยเหลือนักเรียนหญิงที่อยู่ในระดับชั้น ป.4-ม.6 ของโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวนกว่า 100,000 คน ให้เข้าถึงการใช้ผ้าอนามัยและมีความรู้ในการดูแลสุขอนามัยของตนเองและความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างถูกต้องและถูกวิธี
โดยปี 2566 ได้นำร่องแจกผ้าอนามัย 7 โรงเรียนในสังกัดที่เขตบางคอแหลม และจะเพิ่มเติมอีก 3 เขต ในกรุงเทพมหานคร ในปี 2567 อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อขยายผลโครงการในอีก 109 โรงเรียน ให้เด็กนักเรียนหญิงมีผ้าอนามัยใช้ทุกเดือน โดยจัดให้คนละ 15 ชิ้นต่อเดือน
ด้านนางสายพิณ ล้อมพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีนักเรียนถึงระดับชั้น ป.6 เมื่อเด็กนักเรียนหญิงอายุถึง 10 ปี เริ่มมีประจำเดือน พบปัญหาเด็กบางคนที่ไม่ทราบภาวะการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาศัยกับคุณพ่อ หรือผู้สูงอายุ บางครั้งมีประจำเดือนขณะอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทางโรงเรียนมีครูผู้หญิงช่วยเป็นที่ปรึกษา สามารถขอผ้าอนามัยได้ที่ห้องพักครู ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองและให้เด็กนักเรียนมีความรู้ด้านสุขอนามัยอีกด้วย
ผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน ในแต่ละเดือนผู้มีประจำเดือนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยอยู่ที่ราว 80-150 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นจำนวนผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่นต่อเดือน ภาระในการจัดหาผ้าอนามัยจำนวนนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty* ขึ้นได้
Period poverty* หมายถึง ความไม่สามารถในการเข้าถึงผ้าอนามัย เช่น ไม่สามารถซื้อได้ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
ที่มา: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230526140106998 ,https://www.chadchart.com/policy/62386dbf97c037fe0be0b6de/
Image by felicities on Freepik