Polar Vortex คือ การแผ่ขยายของสภาพอากาศแบบขั้วโลกลงมายังพื้นที่ละติจูดต่ำสร้างความหนาวเย็นรุนแรงให้กับหลายพื้นที่
Polar Vortex หรือ ลมวนขั้วโลก เป็นกระแสลมที่พัดหมุนวนในเขตขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ มีการเคลื่อนที่ในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาตลอดทั้งปี ทำหน้าที่คอยกักเก็บลมเย็นให้อยู่ที่ขั้วโลก ป้องกันไม่ให้ขยายออกไป และไม่ให้ความร้อนจากละติจูดกลางเข้ามาได้ โดยมี Polar jet stream หรือ กระแสลมกรด ล้อมรอบไว้ เปรียบเสมือนกำแพงกั้นระหว่างอากาศเย็นและอากาศอุ่น
ภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน กระทบต่อสมดุลของระบบสภาพอากาศบนโลก เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพอากาศไม่สมดุล กำแพง Polar jet stream จะอ่อนกำลังลง ทำให้ Polar vortex เข้าสู่สภาวะแปรปรวน ไม่สามารถคงตัว ส่งผลให้อากาศอุ่นจากละติจูดต่ำไหลบ่าขึ้นสู่ละติจูดสูง ในขณะเดียวกัน อากาศเย็นจากขั้วโลกก็เคลื่อนที่ลงมายังละติจูดต่ำ มีผลให้สภาพอากาศในบริเวณนั้นหนาวเย็นมากกว่าปกติ
เมื่อกระแสลม Polar Vortex แปรปรวน จะสร้างผลกระทบอย่างไรต่อมนุษย์
- สภาพอากาศสุดขั้ว
- คลื่นความหนาวเย็นจัด: อากาศหนาวเย็นจากขั้วโลกไหลกลับลงสู่บริเวณละติจูดต่ำ ก่อให้เกิดสภาวะหนาวสุดขั้ว อุณหภูมิต่ำผิดปกติ ส่งผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และระบบนิเวศ
- พายุ: การแปรปรวนของ Polar Vortex ส่งผลต่อกระแสลมในชั้นบรรยากาศ นำไปสู่พายุรุนแรง เช่น
พายุหิมะ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- ผลกระทบต่อสุขภาพ
- โรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ: อากาศหนาวเย็นจัด ส่งผลต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ
- การบาดเจ็บ: สภาพอากาศเลวร้าย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
- ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน
- สายไฟฟ้า: อากาศหนาวจัดทำให้สายไฟฟ้าเปราะบาง เสี่ยงต่อการขาด ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
- รางรถไฟ เขื่อน ท่าเรือ: สภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลต่อการขนส่ง การคมนาคม และระบบเศรษฐกิจโดยรวม
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ:
- ความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรม: อากาศหนาวจัด อาจทำลายพืชผลทางการเกษตร ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจ
- การหยุดชะงักของธุรกิจ: สภาพอากาศเลวร้าย อาจส่งผลต่อการขนส่ง การท่องเที่ยว ธุรกิจต่างๆ
แนวทางการรับมือปรากฏการณ์ Polar Vortex
- สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ แนวทางการรับมือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Polar Vortex นี้ให้แก่ประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศหนาวจัด
- พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือ
- ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวน เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวจัด
- เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศหนาวเย็นจัด เช่น เตรียมเสื้อผ้าหนาๆ ผ้าห่ม ยาประจำตัว อาหาร น้ำดื่ม
- การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ล้วนเผชิญกับข้อจำกัดเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นจัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องจำลองความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อจัดเก็บพลังงานสำรองให้เพียงพอเมื่อเกิดภัยพิบัติ Polar Vortex หรือสภาพอากาศสุดขั้ว
- กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดสรรเงินทุนในการปรับปรุงอาคารให้มีฉนวนความร้อนเพื่อป้องกันผู้พักอาศัยสัมผัสกับความหนาวเย็นเป็นเวลานาน
- ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ที่มา :https://www.facebook.com/share/p/RxyvYewEDDschkLP/?mibextid=oFDknk
National Oceanic and Atmospheric; สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน); กรมอุตุนิยมวิทยา
By Courtesy: National Science Foundation – National Science Foundation: Scientists Verify Predictive Model for Winter Weather, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18487921